ราคาก๊าซหุงต้ม จ่อขึ้น! จาก 318 บาท เป็น 333 บาท/ถัง15กก.

กระทรวงพลังงาน เตรียมปรับราคาก๊าซหุงต้ม เป็น 333 บาท/ถัง15กก. พร้อมหาแหล่งกู้เงินเพิ่ม ลดผลกระทบด้านราคาพลังงาน หลังราคาพลังงานโลกทุกชนิดปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะด้านราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ใช้มาตรการต่างๆอย่างเต็มที่ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน

และในปีนี้มีสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแหล่ง ก๊าซธรรมชาติ แปลง G1/61 หรือแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนนี้ด้วย

นอกจากนั้นยังเตรียมหาแหล่งเงินกู้เพิ่มเติม ซึ่งอาจจะมาจากเงินกู้จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หรือ หารือ งบกลางของสำนักงบประมาณ ว่าจะสามารถมีพอมาจัดสรรให้กระทรวงพลังงานได้หรือไม่ เพื่อนำมาอุตหนุนราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม (แอลเอ็นจี) คาดชัดเจนปลายเดือน ก.พ.นี้


ส่วนเงินกู้ 3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะได้เงินเติมเข้าบัญชีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประมาณเดือน เม.ย.นี้ โดยนำมาจ่ายหนี้น้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม (แอลเอ็นจี) ภาคครัวเรือน ที่ได้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ตรึงราคาแอลพีจีตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 ประมาณ 25,000 ล้านบาท
นายกุลิศ กล่าวว่า ปัจจุบันราคาก๊าซหุงต้มอยู่ที่ถังละ 432บาท แต่กระทรวงพลังงานได้ตรึงราคาอยู่ที่ 318 บาท/ถัง 15 กก. ถึงเดือนมี.ค.นี้ โดยหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการตรึงราคาก๊าซหุงต้มแล้ว อาจจะมีการปรับขึ้นเป็นช่วงๆทุก3เดือนประมาณ 333 บาท/ถัง15 กก.และ 363 /ถัง15 กก.ตามลำดับตามแผน ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาในช่วงนั้นๆ


นอกจากนั้น กระทรวงได้ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานภายใต้ กบง. ติดตามและกำกับการดำเนินการ โดยยึดหลักการรักษาความมั่นคงในการจัดหาและคำนึงถึงผลกระทบค่าไฟฟ้าที่จะมีต่อประชาชนให้น้อยที่สุด คณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เร่งจัดหาเชื้อเพลิงและบริหารจัดการตามแผนที่กำหนด โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินการแต่ละมาตรการให้เป็นไปตาม Merit Order

รวมถึงพิจารณาแผนการนำเข้า LNG และการจัดสรรตาม ความเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าไฟฟ้าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับอย่างแน่นอน

ส่วนประเด็นเรื่องการจัดหาก๊าซธรรมชาติและการนำเข้า LNG เพื่อนำมาทดแทนก๊าซธรรมชาติที่หายไปในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทาน กระทรวงพลังงานให้ได้ความสำคัญในการจัดลำดับหรือ Merit order ในการเลือกใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้า LNG Spot การใช้น้ำมันทดแทน การรับซื้อไฟฟ้า หรือการเลื่อนแผนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อให้เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามีราคาที่ต่ำที่สุด เพื่อดูแลค่า Ft ให้ดีที่สุด

อย่างไรก็ดี ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นวิกฤตพลังงานของโลก ซึ่งราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจะส่งผลต่อราคาน้ำมันขายปลีก 20 สตางค์ต่อลิตร ขอให้ทุกภาคส่วนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน เผยว่า “ราคาน้ำมันโลก ได้แรงหนุนจากหลายปัจจัย ทั้งการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นหลังจากโควิดคลี่คลาย และปริมาณการผลิตที่ยังคงออกสู่ตลาดอย่างจำกัด มีการคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ Omicron จะคลี่คลายในครึ่งปีแรกของปีนี้ โดยรายงานฉบับเดือน ม.ค. 65 ของ OPEC คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2564 เพิ่มขึ้น 5.65 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 96.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปี 2565 เพิ่มขึ้น 4.16 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 100.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขความต้องการที่สูงขึ้นมาก และมีผลต่อราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก

ส่วนมาตรการปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปรับเป็น B5 ที่มีผลมาตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาไปจนถึง 31 มีนาคม 2565 นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยว่า “กรมธุรกิจพลังงานในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาสัดส่วนการผสม ไบโอดีเซล (บี100) ในภาวะวิกฤติด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เสนอ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางการปรับสูตรการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิงในภาวะปกติ เป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น (พ.ศ. 2565 ถึง 2566) ได้กำหนดให้มีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 2 เกรด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 สำหรับใช้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่ และระยะยาว (พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป) ได้กำหนดเหลือน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 เพียงเกรดเดียว

ซึ่งมาตรการดังกล่าวกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านราคาโดยคำนึงถึงทุกฝ่าย ไม่ว่าจะทั้งผู้ใช้รถยนต์ดีเซลและเกษตรกรชวนสวนปาล์ม นอกจากนั้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีเวลาในการบริหารจัดการและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงการใช้เชื้อเพลิงในรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ซึ่งจะกระทบกับการใช้น้ำมัน คณะอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ภายใต้คณะกรรมการปาล์มน้ำมัน ได้เริ่มส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ เช่น ผลิตภัณฑ์หล่อลื่น น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ ผงซักฟอกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม น้ำมันหล่อลื่นและจาระบีชีวภาพ รวมทั้งกรีนดีเซล และ BioJet ที่จะสามารถรองรับปริมาณน้ำมันปาล์มได้ในอนาคต

ด้านนายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยเกี่ยวกับการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแปลง G1/61 หรือแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตว่า “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ประสานการเจรจาระหว่างบริษัทผู้รับสัมปทานรายเดิม (บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด) และผู้รับสัญญารายใหม่ (บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ. อีดี) ซึ่งที่ผ่านมา ทั้ง 2 บริษัท ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือต่างๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลง G1/61 เดินหน้าต่อไป

โดยหลังจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะได้เร่งผลักดันให้บริษัท ปตท.สผ. อีดี วางแผนบริหารจัดการ และเตรียมการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และได้ปริมาณตามเงื่อนไขในการประมูลโดยเร็วที่สุด ซึ่งมั่นใจได้ว่าการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานในช่วงเดือนเมษายนนี้ กรมฯ จะสามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการประสานกับผู้รับสัมปทานรายอื่น ๆ ให้เตรียมความพร้อมให้ผลิตก๊าซธรรมชาติได้เต็มความสามารถตามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ และเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ มาทดแทน

สำหรับแผนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในปี 2565 นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เผยว่า “การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในระยะต่อไป กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมมือกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดปริมาณ และ Zoning ให้สอดคล้องกับศักยภาพ เป้าหมาย และนโยบายการจัดสรรพื้นที่ทางการเกษตร โดยกำหนดพื้นที่เหมาะสมเพื่อปลูกพืชพลังงาน และกำหนดพื้นที่ที่มีความต้องการไฟฟ้า(ไฟตก/ไฟดับ/เสริมความมั่นคง) เพื่อลดการสูญเสียในระบบส่ง และไม่เป็นภาระกับระบบโครงข่ายพลังงาน และ ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการเพิ่มมูลค่าพืชพลังงาน โดยจะหาแนวทางการนำผลผลิตของการปลูกพืชพลังงานไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนแผนการดำเนินงานโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ในเฟสที่สอง 400 เมกะวัตต์ ในปี 2565 ดังนี้

(1) วิเคราะห์ประเมินผลโครงการนำร่อง (2) วิเคราะห์ความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการขยายผลในระยะที่ 2 (3) กำหนดรูปแบบเป้าหมายการดำเนินโครงการ ได้แก่ กำหนดพื้นที่ จัดหาเทคโนโลยี ส่งเสริมการแปรรูปจัดเตรียมเชื้อเพลิง การสร้างรายได้จากการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ประเมินต้นทุน กำหนดราคารับซื้อเชื้อเพลิง (4) กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าและโมเดลทางธุรกิจที่เหมาะสม”

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password