ไทยโชว์ นวัตกรรม”เฝือกประดิษฐ์”รายแรกของโลก ครองแชมป์ส่งออกยางพารา 6เดือนแรกปี65

เกษตรฯ โชว์นวัตกรรมยางพาราทางการแพทย์ “เฝือกประดิษฐ์” ยางพาราชิ้นแรกของโลก “อลงกรณ์” ตั้งเป้าสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มมูลค่ายางพารา อัพเกรด ภาคเกษตรกรรมของไทยสู่เกษตรมูลค่าสูง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายาง และ รักษาเสถียรภาพราคายาง เปิดเผยถึงความสำเร็จของ นวัตกรรมยางพาราที่ใช้ในทางการแพทย์ สามารถสร้าง “เฝือกประดิษฐ์” ยางพาราชิ้นแรกของโลก ถือเป็นงานวิจัยที่สามารถนำมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้แล้ว หลังจากไทยครองแชมป์ส่งออกยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลก นำมาซึ่งรายได้ของเกษตรกรและประเทศชาติมากขึ้น โดยใช้นวัตกรรมพัฒนาสินค้า “ยางพารา” เพื่อยกระดับภาคเกษตรกรรมของไทยสู่เกษตรมูลค่าสูง ภายใต้ยุทธศาสตร์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ โดยบูรณาการร่วมกับภาครัฐ เอกชน และภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง

ภายใต้การส่งเสริมของ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมมือกับ ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(ศูนย์ AIC) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ในส่วนของศูนย์ AIC การยางแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรฯ ได้มีการวิจัยและพัฒนาในเรื่องของยางพารา 32 เรื่อง อาทิ นวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูป, เฝือกเท้าสำหรับลูกช้างจากยางธรรมชาติ NR, การพัฒนาแผ่นรองเท้าสำเร็จรูปจากยางธรรมชาติสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรครองช้ำ และโรคเท้าแบน, เทคโนโลยีการพัฒนาหุ่นจำลองส่วนหัวจากยางพาราเพื่อฝึกหัดทำหัตถการทางจักษุ, อุปกรณ์ถ้วยรองน้ำยางพาราที่สามารถจับตัวน้ำยางได้เองและกรรมวิธีการผลิตอุปกรณ์ถ้วยรองน้ำยางพาราที่สามารถจับตัวน้ำยางได้เอง, ที่ครอบสวิตช์ไฟเรืองแสงจากยางพารา ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้เกิดการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น หมอน ที่นอนยางพารา ทั้งนี้ การผลิตนวัตกรรมยางพาราที่ใช้ในทางการแพทย์ จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาและร่วมสร้างผลงานนวัตกรรมจากยางพาราสู่การแพทย์ โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ และที่สำคัญคือเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ซึ่งส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยาง

ด้าน รศ. นพ.นิยม ละออปักษิณ นายกสมาคมพัฒนาแพทย์ทางเลือกไทย-จีน ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การนำเฝือกประดิษฐ์ยางพาราไปประยุกต์ใช้รักษาทางการแพทย์” กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยทางออร์โธปิดิกส์ กรณีที่บาดเจ็บ โดยไม่ต้องผ่าตัด แพทย์จะใช้วิธีการใส่เฝือก แต่ยังพบว่ามีผลแทรกซ้อน เช่น เฝือกรัดแน่นเกินไป เฝือกหัก และการดูแลหลังใส่เฝือก ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีมีมากขึ้น เฝือก จึงมีหลากหลายชนิดให้เลือกใช้ แต่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพง ดังนั้น การพัฒนาวัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศ โดยเฉพาะยางพารา ที่สามารถนำไปแปรรูปได้ตามความต้องการ จึงนับเป็นทางเลือกที่ดี สำหรับแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย รวมทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าและพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ โดยวัตถุประสงค์ของโครงการฯ จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาปรับปรุงเฝือกยางพาราต้นแบบ (prototype) ให้เป็นเฝือกยางพาราเชิงพาณิชย์

สำหรับผลการวิจัยดังกล่าว สามารถพัฒนาเฝือกยางพาราในการออกแบบให้มีความสวยงามทันสมัย และ ได้จดสิทธิบัตรการออกแบบจนผ่านการอนุมัติ จำนวน 4 ฉบับ และร่วมจัดทำร่างข้อกำหนดจาก กรมวิทยาศาสตร์บริการ ให้เป็นต้นแบบในการอ้างอิงสำหรับประเทศไทยในการประดิษฐ์เฝือกยางพารา และได้ทำการศึกษาทางโรงพยาบาลจำนวน 7 แห่ง รวม 69 ราย หลังจากอธิบายให้แพทย์ผู้ใช้เข้าใจและมีการติดตามผ่านแบบสอบถามความพึงพอใจ หลังใส่เฝือกและกิจวัตรหลังใส่เฝือก เมื่อเปรียบเทียบกับเฝือกปูนในงานวิจัยที่มีมาก่อน พบว่ามีค่าที่ดีสูงขึ้น

น.ส.นภาวรรณ เลขะวิพัฒน์ ผอ.ฝ่ายอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท. มีงานวิจัยเกี่ยวกับอุปกรณ์ช่วยเหลือทางด้านการแพทย์หลายโครงการ ที่ผลิตจากยางพารา สามารถช่วยให้การรักษาดีขึ้น เนื่องจากยางพาราเป็นวัสดุมีความยืดหยุ่นสูง สามารถรองรับน้ำหนักได้มาก และระบายความร้อนได้ดี ที่ผ่านมา กยท.ได้วิจัยและผลิตอุปกรณ์รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยางเพื่อใช้ทางการแพทย์หลายชิ้น อาทิ อุปกรณ์สำหรับฝึกหมอ พยาบาล เช่น แผ่นฝึกเย็บสื่อการสอน หุ่นฝึกช่วยชีวิต (CPR) ตลอดจนแผ่นยางรองรองเท้าสำหรับคนที่มีปัญหาจากอาการรองช้ำ และเท้าเทียมจากยางธรรมชาติ

ทั้งนี้ จากรายงานสถานการณ์ตลาดและการส่งออกยางพาราครึ่งปี 2565 ของ กยท. ไทยครองตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของโลกด้วยปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติ และ ผลิตภัณฑ์ยาง 2,190,065 ตัน โดยเฉพาะจีนนำเข้ายางไทยเป็นอันดับหนึ่งครองมาร์เก็ตแชร์ถึง 49% รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย 10% สหรัฐอเมริกา 7% ญี่ปุ่น 6% เกาหลีใต้ 4%

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password