ธ.ก.ส. ออกมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2567/68 ตามนโยบายรัฐบาล

ธ.ก.ส. ออกมาตรการรักษาเสถียรภาพข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท แก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือก ผ่านสินเชื่อ 2 โครงการ ‘สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี – สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร’ โดยสถาบันฯ ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลและ ธ.ก.ส. รับชำระดอกเบี้ยแทน

นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากกรณีที่ราคาข้าวขาวปรับตัวลง เนื่องจากตลาดโลกมีการส่งออกข้าวจาก ประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อราคาและกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรตามมานั้น ธ.ก.ส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาด้วยมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ผ่านสินเชื่อ 2 โครงการ ได้แก่

1) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 วงเงินรวมกว่า 35,000 ล้านบาท เกษตรกรกู้ได้รายละไม่เกิน 300,000 บาท สหกรณ์การเกษตรและชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรไม่ต้องชำระดอกเบี้ย เนื่องจากรัฐบาลรับภาระในการชำระดอกเบี้ยแทน เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตข้าวเปลือกล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ รวมถึงเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีเงินหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว และรองรับปริมาณข้าวเปลือกจากท้องตลาด 3 ล้านตัน โดยมีประเภทข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานีและข้าวเปลือกเหนียว  

สำหรับคุณสมบัติผู้กู้ ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2567/68 กับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือสถาบันเกษตรกรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานราชการและรับรวบรวมข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 เช่น สหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หรือศูนย์ข้าวชุมชน เป็นต้น โดยข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีคุณสมบัติเป็นข้าวเปลือกที่มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกิน ร้อยละ 2 และสีได้ต้นข้าวไม่ต่ำกว่า 20 กรัม กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด 12,500 บาท/ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด 11,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 9,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือก ปทุมธานี 10,000 บาท/ตัน และข้าวเปลือกเหนียว 10,000 บาท/ตัน ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 253,344 ราย รวมจ่ายสินเชื่อแล้วกว่า 23,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกให้อีก 1,500 บาทต่อตัน  กรณีเกษตรกรเก็บข้าวเองได้รับ 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรฝากข้าวกับสถาบันเกษตรกร เกษตรกรจะได้รับ 500 บาทต่อตัน และสถาบันฯ จะได้รับ 1,000 บาทต่อตัน ระยะเวลาจัดทำสัญญา ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568  กรณีภาคใต้จัดทำสัญญาได้จนถึง 31 กรกฎาคม 2568 สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อย สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีได้ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 เป้าหมายรวบรวมข้าวเปลือก 1.5 ล้านตัน กรอบวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้แก่สหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด สำหรับรับซื้อและรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป รวมถึงการนำผลผลิตไปแปรรูปจำหน่าย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ซึ่งจะส่งผลให้การรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกในตลาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวงเงินแบ่งตามประเภทผู้กู้และศักยภาพการทำธุรกิจ ดังนี้ สหกรณ์การเกษตร/ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร วงเงินแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกร วงเงินแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชน วงเงินแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยสถาบันฯ ชำระดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลและ ธ.ก.ส. รับหน้าที่ชำระแทนสถาบันเกษตรกร ระยะเวลาจ่ายสินเชื่อตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 กันยายน 2568 ซึ่งขณะนี้จ่ายสินเชื่อแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศหรือ Call Center 02 555 0555.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password