ดีเดย์! รัฐจ่อประกาศใช้ภาษีคาร์บอนน้ำมัน กพ.นี้ – รมช.คลังย้ำ! ไม่กระทบราคาขายปลีกแน่
“เผ่าภูมิ” นำทีม กรมสรรพสามิต และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามเอ็มโอยูร่วมกับ กลุ่ม OR และบางจาก เดินหน้าผลักดันสร้ามเข้าใจเพื่อขับเคลื่อนและหนุนส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอนและใช้พลังงานที่ยั่งยืน เผย! พร้อมประกาศใช้ภาษีใหม่ กพ.นี้ ชี้! ไม่กระทบราคาน้ำมันทั้งในวันนี้และอนาคต
เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เป็นประธานใน พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอนและพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน โดยมุ่งส่งเสริมด้านพฤติกรรมการใช้พลังงานที่เอื้อต่อการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการบูรณาการการจัดกิจกรรมและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลและผลงานวิจัย ด้วยการพัฒนากลไกติดตามพฤติกรรมการใช้พลังงาน และสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่าง กรมสรรพสามิต โดย นางสาวกุลยา ตันติเตมิต อธิบดีกรมสรรพสามิต, รศ. ดร. นพพล วิทย์วรพงษ์ คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) และบมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น ณ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น (PTT Station) และสถานีบริการน้ำมันบางจาก ถนนวิภาวดีรังสิต
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงการคลัง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ ของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยโครงสร้างภาษีสรรพสามิต สามารถคำนวณได้จากค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) ซึ่งเป็นค่าที่สามารถคำนวณได้ทางวิทยาศาสตร์คูณกับราคาคาร์บอน (Carbon Price) ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าซึ่งภาครัฐเป็นผู้กำหนด เพื่อให้ภาครัฐสามารถใช้มาตรการทางภาษีนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้ ตนขอยืนยันว่า ภาษีคาร์บอนที่จะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และราคาขายปลีกของน้ำมันในทุกชนิดแต่อย่างใด และจะไม่สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า สิ่งที่ประชาชนจะได้คือ ราคาน้ำมันตามราคาตลาด ซึ่งหากอนาคตผู้ผลิตน้ำมันสามารถเพิ่มมาตรฐานคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น ภาษีก็จะถูกลงและทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกถูกลงตามไปด้วย นอกจากนี้ ประชาชนที่ซื้อน้ำมันภายใต้โครงสร้างภาษีคาร์บอนก็จะได้ความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการลดปัญหามลพิษทางอากาศมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ทุกครั้งของการเติมน้ำมันประชาชนก็จะมีส่วนในการลดปัญหาดังกล่าว โดยสามารถดูปริมาณการลดคาร์บอนไดออกไซค์ได้จากจอมอนิเตอร์จากหัวจ่ายน้ำมันในปั้มน้ำมันที่ได้ลงนามในครั้งนี้
ด้าน หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR กล่าวว่า ความร่วมมือของ OR กรมสรรพสามิต และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอนและพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน สร้างความตระหนักรู้เรื่องภาษีคาร์บอนของผู้ใช้พลังงาน ด้วยความห่วงใยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ทางด้านนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาษีคาร์บอน ซึ่งมาตรการนี้ไม่ส่งกระทบต่อราคาน้ำมัน และไม่เพิ่มภาระให้แก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการออกกฎกระทรวงกำหนดกลไกราคาคาร์บอนในภาษีน้ำมันในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน
ทั้งนี้ OR จะให้การสนับสนุนด้านการดำเนินงานรวมถึงทรัพยากรตามที่ทั้ง 3 ฝ่ายตกลงร่วมกัน นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบาย OR SDG ที่มุ่งสร้างสมดุลในทุกมิติ โดยเฉพาะด้าน G: Green ที่มุ่งสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาดและการสนับสนุนให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ความร่วมมือครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยเฉพาะเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี พ.ศ. 2608
ขณะที่ นายเสรี อนุพันธนันท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอนนี้ จะเริ่มสื่อสารตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2568 กำหนดกลุ่มตัวอย่างวิจัยประมาณ 3,500 ราย ภายในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประเมินผลสัมฤทธิ์ของการส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีคาร์บอน และใช้เป็นแนวทางกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานในอนาคต.