สนค.วิเคราะห์ทิศทางการส่งออก/ตลาดส่งออกปี’68 – รีบเช็คเลย! 4 ปัจจัยหนุน + 4 ปัจจัยท้าทาย
“ผู้อำนวยการ สนค.” เผยผลวิเคราะห์ทิศทางการส่งออกและตลาดส่งออกสินค้าของไทยปี 2568 คาดขยายตัว 2 – 3% คิดเป็นมูลค่า 3.06 – 3.09 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ย้ำ! ตลาดโกลยังต้องสินค้าไทยหลายรายการ แต่ยังมีปัจจัยท้าทายที่ต้องจับตาเป็นพิเศษด้วย เช็คด่วน! “4 ปัจจัยหนุน / 4 ปัจจัยท้าทาย” ส่งผลต่อภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม และตลาดส่งออกที่สำคัญ ลั่น! ไทยพร้อมรักษาตลาดส่งออกเก่า พ่วงขยายตลาดใหม่ เอื้อการส่งออก
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สนค.ได้วิเคราะห์ทิศทางการส่งออกและ ตลาดส่งออกสินค้าของไทย ปี 2568 ไว้ โดยคาดการณ์มูลค่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวร้อยละ 2 – 3 (ค่ากลางร้อยละ 2.5) หรือคิดเป็นมูลค่า 306,000 – 309,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค่ากลาง 307,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากฐานปี 2567 ที่คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 5.2) ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าโลก ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์โลก และมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในปีหน้า รวมถึง ปัจจัยเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงจะต้องติดตามการประกาศมาตรการของสหรัฐฯ และประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทยในปี 2568 ปัจจัยหนุนมี 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ (1) การทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจโลก (2) ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง (3) วัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางของไทย (สินค้า PCB) มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ (4) การได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต จากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
ขณะที่ ปัจจัยท้าทายมี 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ (1) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจการค้า ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน (2) ความแปรปรวนของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ (3) ปริมาณการค้าที่ขยายตัวลดลง จากการใช้นโยบายกีดกันทางการค้า และ (4) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวน
อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกของไทยในปี 2568 โดยเฉพาะ การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อการผลิตสินค้าเกษตร จากอิทธิพลของลานีญาตั้งแต่กลางปี 2567 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากปัญหาโลกร้อนจะยังคงส่งผลกระทบสืบเนื่องต่อการผลิตภาคการเกษตร สำหรับ ด้านการตลาด เชื่อว่ายังคงขยายตัวได้ดี ตามการฟื้นตัวของการบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในส่วนของผลของราคาส่งออกสินค้าเกษตรน่าจะลดลง จากอุปทานสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่จะเพิ่มขึ้น ผลจากการยกเลิกมาตรการระงับการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศผู้ส่งออกสำคัญ นอกจากนี้ ปัญหาโลจิสติกส์สินค้าเกษตรที่ชะงักงันน่าจะผ่อนคลายลงความรุนแรงของปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนหรือตะวันออกกลางคาดว่าจะมีระดับทรงตัว ขณะที่ ค่าเงินบาทคาดว่าจะแข็งค่ากว่าปีก่อนหน้าเล็กน้อย
ปัญหาสำคัญของภาคการเกษตรไทยเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการผลิตเป็นสำคัญ ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น การเผชิญกับคู่แข่งผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกและยกระดับผลผลิตได้ดีทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันมาตรการทางการค้าที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าบางประเทศ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ผู้ส่งออกอุตสาหกรรมเกษตรต้องปรับตัวและบริหารจัดการต้นทุนให้แข็งขันได้ ขณะที่ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโต ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง น้ำตาลทราย ยางพารา ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง
โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย คาดว่าผู้ส่งออกจะเร่งส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนที่จะเริ่มมีสัญญาณชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน และยุโรป เนื่องจากการออกมาตรการปรับขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะมีความชัดเจนขึ้นซึ่งจะสร้างอุปสรรคในการส่งออกสินค้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนในระยะต่อไป
นอกจากนี้ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงตามการปรับลดลงของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก อย่างไรก็ดี ไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการปรับโครงสร้างการผลิตของไทย เช่น Data Center การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เช่นwafer หรือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สอดรับกับกระแสการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง นับเป็นโอกาสต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยที่จะพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาดโลกมากขึ้น รวมถึงช่วยให้เศรษฐกิจของไทยสามารถเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว
ส่วน สินค้าอุตสาหกรรมที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโต ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) รถยนต์ EV และเคมีภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ทั้งไทยและจีนมีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เหมือนกัน และเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง
นอกจากนี้ ตลาดส่งออกของไทยในปี 2568 นั้น คาดว่า เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จะเติบโตปานกลาง จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่จะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจโลก สร้างความเสี่ยงให้เงินเฟ้อกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง การชะลอการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายลงเพิ่มเติม จึงอาจจะไม่เห็นการประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมมากนัก ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงอยู่ และการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจจะกลับมารุนแรงขึ้น อาจส่งผลให้ต้นทุนสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักจะช่วยเพิ่มการลงทุนและการบริโภคให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย
ในขณะที่ ตลาดอาเซียนคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการส่งออกในปีหน้าจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งและการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มทรงตัว อาเซียนเป็นแหล่งลงทุนและฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญของโลก และคว้าโอกาสจากการเบี่ยงเบนทางการค้า โดยฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนามจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
“ดังนั้น ปี 2568 กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายที่จะรักษาตลาดส่งออกหลักเดิม ได้แก่ สหรัฐฯ จีน อาเซียน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และเพิ่มเติมตลาดรองที่มีศักยภาพ อาทิ เอเชียใต้ (อินเดีย) ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา เป็นต้น” ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวสรุป.