โรงงานรักชุมชน.. ‘เอกนัฏ’ ชูความสำเร็จ 585 โรงงาน

เอกนัฏ ชูความสำเร็จของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับรางวัล CSR-DIW ผ่านเกณฑ์มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ในปี 2567 ได้รับรางวัลตามมาตรฐาน CSR-DIW และรักษามาตรฐาน CSR-DIW ต่อเนื่อง (CSR-DIW Continuous) รวม 585 โรงงาน สร้างมูลค่าผลตอบแทนทางสังคม 250 ล้านบาท

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขับเคลื่อนนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่” โดยมุ่งเน้น 3 ด้านหลัก คือ สู้: การจัดการกากสารพิษ เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน เซฟ: การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SME ไทย เร่งช่วยเหลือ SME ให้เข้าถึงแหล่งทุนและโอกาสทางธุรกิจ สร้าง: การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนในพื้นที่สู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยการนำนโยบายโรงงานอยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืนมาประยุกต์เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชน ภายใต้การยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ CSR-DIW (Corporate Social Responsibility-Department of Industrial Works) มุ่งเน้นในเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลองค์กร สร้างความไว้ใจและเชื่อมั่นในการประกอบกิจการต่อผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งพนักงานโรงงาน คู่ค้า ผู้บริโภค ชุมชน และหน่วยงานกำกับดูแล สร้างสังคมการทำงานที่ดีช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่โรงงานอุตสาหกรรมและภาคอุตสาหกรรมไทย

ดร. ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินตามนโยบายรัฐบาล มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” นำภาคอุตสาหกรรมสู่การพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมด้านความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม ผ่านการพัฒนา ยกระดับอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของพื้นที่ ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบกิจการภาคอุตสาหกรรมไปสู่การเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมตามมาตรฐาน CSR-DIW เกิดการไว้วางใจจากประชาชน พึ่งพาเกื้อกูลและอยู่ร่วมกันในสังคม นำไปสู่การสร้างความสามารถในการแข่งขันบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของกระทรวงอุตสาหกรรม MIND : ปรับอุตสาหกรรมเข้าสู่วิถีใหม่ ให้ความสำคัญในการยกระดับทุกองค์ประกอบของภาคอุตสาหกรรม ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งและกระจายรายได้สู่ชุมชน ด้วย “หัว” และ “ใจ” ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน พร้อมผลักดัน “ชุมชนรักโรงงาน โรงงานรักชุมชน และสร้างการกระจายรายได้สู่ชุมชน” เพื่อให้ชุมชนและอุตสาหกรรมอยู่ด้วยกันอย่างเป็นมิตร พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และสร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดี รักษาราชการแทน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า CSR-DIW เป็นมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมพัฒนาขึ้น ตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน กว่า 16 ปี โดยมีความสอดคล้องกับมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ ISO 26000 ที่กำหนดโดยองค์การระหว่างประเทศ มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้ประกอบการแสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคม 3 ด้าน คือ ด้านการกำกับดูแลองค์กร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน

ดังนั้น เมื่อโรงงานนำมาตรฐาน CSR-DIW ไปประยุกต์ใช้จะต้องมีกิจกรรมและการดำเนินงานที่แสดงถึงการปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน โรงงานจะต้องไม่มีข้อร้องเรียนหรือเมื่อมีข้อร้องเรียนจะต้องมีการแก้ไข รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ และโรงงานต้องมีกิจกรรมพัฒนาร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียและชุมชน อย่างน้อย 1 กิจกรรมในแต่ละปี อาทิ การฝึกอาชีพ การตรวจสุขภาพประชาชนรอบโรงงาน การสนับสนุนการศึกษาให้กับเด็กในชุมชน กิจกรรมอาสาสมัครช่วยเหลือชุมชน เป็นต้น

ในปี 2567 มีโรงงานร่วมยกระดับองค์กรให้ได้มาตรฐาน CSR-DIW และรักษามาตรฐาน CSR-DIW รวม 585 โรงงาน แบ่งเป็น 1) รางวัล CSR-DIW Continuous 10 ปีต่อเนื่อง 125 รางวัล 2) รางวัล CSR-DIW 88 รางวัล และ 3) รางวัล CSR-DIW Continuous 372 รางวัล โดยมอบแก่โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน CSR-DIW เป็นครั้งแรก

สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับรางวัล CSR-DIW ไปแล้ว หากได้สมัครและดำเนินการตามมาตรฐานได้รับการรับรองอีกครั้งจะได้รับรางวัล CSR-DIW Continuous และรางวัล CSR-DIW Continuous 10 ปีต่อเนื่อง มอบให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรางวัล CSR-DIW Continuous ต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปีล่าสุด ทั้งนี้ กิจกรรมที่โรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการร่วมกับชุมชนแล้วกว่า 550 ชุมชน มีผลตอบแทนทางสังคม 250 ล้านบาท.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password