งานยากรัฐบาล เดิมพัน GDP ปี 68 โต3% ‘สภาพัฒน์’ ชี้โจทย์ท้าทายเศรษฐกิจ

รัฐบาลกำลังจะแถลงผลงาน 3 เดือนในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ โดยหนึ่งในประเด็นที่จะแถลงคือเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสดใส ก่อนหน้านี้ทั้ง รมว.คลัง และรมช.คลังระบุว่าเศรษฐกิจปี 2568 จะขยายตัวได้มากกว่า 3% ซึ่งทำให้เข้าสู่ระดับศักยภาพ ขณะที่หน่วยงานเศรษฐกิจอย่างสภาพัฒน์มองว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอน กระทบภาคเศรษฐกิจและการจ้างงาน คาดว่าจีดีพีปี 2568 จะขยายตัวได้ 2.3 – 3.3%แนะจับตา 3 ความเสี่ยง เศรษฐกิจโลก ภูมิรัฐศาสตร์ การปรับตัวของแรรงานในประเทศ

รัฐบาลกำลังมีมุมมองที่ดีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2568 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2567 โดยแนวโน้มของเศรษฐกิจที่รัฐบาลมองว่าจะสดใสจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะหยิบยกมาพูดในการแถลงผลงงานรอบ 3 เดือน ของรัฐบาลในวันที่ 12 ธ.ค.นี้

ก่อนหน้านี้พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ระบุว่า เศรษฐกิจในปี 2568 จะขยายตัวได้เกินกว่า 3% ขณะที่ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ระบุว่าเศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นจนเข้าสู่ระดับศักยภาพคือขยายตัวได้เกินกว่า 3% ซึ่งเป็นภาพที่รัฐบาลนั้นอยากให้เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามในมุมมองของหน่วยงานเศรษฐกิจที่ติดตามความเคลื่อนไหวและแนวโน้มเศรษฐกิจยังประเมินว่าเศรษฐกิจในปี 2568 ยังมีความเสี่ยง และความไม่แน่นอนสูงมาก

ในงานสัมมนาทางวิชาการ “2025 : Economic & Employment Trend Forum” ที่จัดขึ้นเร็วๆนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวอยู่ในกรอบ 2.3 – 3.3% โดยมีทั้งปัจจัยสนับสนุน และเฝ้าระวังดังนี้

วิชญ์พิพล ติวะตันสกุล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน ของสศช. กล่าวในหัวข้อ “แนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค ปี 2568” ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 ที่ สศช.คาดการณ์นั้นจะขยายตัวได้ที่ 2.3 – 3.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุน อาทิ การใช้จ่ายของภาครัฐ การลงทุนของภาคเอกชน การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออก

นอกจากนี้ สถานการณ์การจ้างงานในไตรมาสสาม ปี 2567 พบว่า ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.0 ล้านคน โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมหดตัวลงต่อเนื่อง ขณะที่สาขานอกภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวได้

สำหรับหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสอง ปี 2567 พบว่า มีมูลค่า 16.32 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น สัดส่วนหนี้ต่อ GDP 89.6% ซึ่งสาเหตุของการชะลอของหนี้สินครัวเรือน มาจากการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปัจจัยที่ส่งผลต่อการจ้างงานในระยะต่อไป ได้แก่ 1.ความเสี่ยงจากแนวโน้มการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ที่เป็นผลจากความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ 2.ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค และ 3.ปัจจัยในประเทศ เช่น การปรับตัวของผู้ประกอบการในการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น

โดยมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะกลาง ได้แก่ 1.ต้องเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมในอนาคต 2.ปรับปรุงระบบราชการให้มีขนาดและประสิทธิภาพ

ส่วนประเด็นที่ต้องขับเคลื่อนในระยะยาว นั้น สศช.มองว่าจำเป็นเพิ่มอัตราการเกิดอย่างมีคุณภาพของประชากรไทย พร้อมทั้งพัฒนาการศักยภาพและทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และผู้แทนด้านแรงงาน ต้องร่วมมือกันในการเร่งปรับตัว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password