‘เอกชนไทย-จีน’ ผนึกตั้งกลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจ 2 ชาติ – เผย! ปมลึกไทยขาดดุลจีน ‘ของจริงคือกำไรส่งออก ตปท.’

3 ประสาน “หอการค้าไทยฯ + หอการค้าไทย-จีน + สมาคมการค้าวิสาหกิจจีน” ผนึกสร้าง “กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีนอย่างยั่งยืน” หนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และอื่นๆ ระหว่างไทยและจีน รวมถึงสร้างโอกาสที่ดีและรับมือความท้าทายในยุคที่เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

เผย! ปมลึกที่ไทยขาดดุลการค้าจีน เหตุจากผู้ประกอบการไทยและกลุ่มทุนจีนในไทย สั่งนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและเครื่องจักรมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ก่อนส่งออกสร้างกำไรในภาพรวม ด้าน ประธานหอการค้าฯ ระบุ! รัฐ-เอกชน จับมือสร้างกติกาใหม่ แก้ปมแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติ เทขายสินค้าราคาถูก ดูดเงินออกนอกประเทศ โดยไม่เสียภาษีให้รัฐไทย ย้ำ! ต้องเสียทั้ง VAT 7% และจดทะเบียนในไทยเพื่อเสียภาษีเงินได้ฯ ลดการเอาเปรียบธุรกิจไทย

เมื่อช่วงสายวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ณ หอประชุมใหญ่หอการค้าไทย-จีน ชั้น 9 อาคาร Thai CC Tower, ภาคเอกชนไทย-จีน ภายใต้ความร่วมมือของ…หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทย-จีน และสมาคมการค้าวิสาหกิจจีนในประเทศไทย แถลงข่าวการจัดตั้ง “กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีนอย่างยั่งยืน” เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย และมี นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน นางสาวเฉิน หวา ประธานสภาสมาคมการค้าวิสาหกิจจีนในประเทศไทย และ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่หนึ่ง ในฐานะตัวแทนประสานงานของ “กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีนอย่างยั่งยืน” ของทั้ง 3 องค์กร ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์

ดร.พจน์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-จีน ไม่เพียงแต่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ แต่ยังเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยและจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง การจัดตั้งกลไกนี้จะช่วยให้ความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างสองประเทศมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และยังช่วยลดอุปสรรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในด้านกฎหมายและข้อบังคับทางการค้า ทั้งนี้ การจัดตั้งกลไกดังกล่าว มีเป้าหมายหลักในการสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนไทยและจีนว่าจะสามารถร่วมกันพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีแผนดำเนินการสำคัญ 9 ประการ ได้แก่…

1) การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเศรษฐกิจและการค้าที่เชื่อถือได้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสังคมไทยต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน

2) การจัดการประชุมเป็นประจำระหว่างตัวแทนจากทั้งสองประเทศ เพื่อส่งเสริมการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจ

3) การส่งเสริมกิจกรรมการพบปะและแลกเปลี่ยนระหว่างธุรกิจไทยและจีน ผ่านงานสัมมนาและโครงการสาธารณกุศล

4) การร่วมมือในด้านการฝึกอบรมและการศึกษาเทคนิค เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านกฎหมาย วัฒนธรรม และแนวปฏิบัติทางธุรกิจของทั้งสองประเทศ

5) การจัดงาน Supplies Matching และงานแสดงสินค้าเพื่อเพิ่มโอกาสในการร่วมมือในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น 5G อีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์

6) การส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีสารสนเทศ

7) การให้บริการที่ปรึกษาทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจระหว่างสองประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

8) การเสริมสร้างความร่วมมือด้านสื่อมวลชน เพื่อเผยแพร่ผลสำเร็จจากการทำงานร่วมกันระหว่างไทยและจีน

9) การสนับสนุนให้ธุรกิจทั้งสองประเทศปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด

สนั่น อังอุบลกุล

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล กล่าวว่า นอกจากประเทศจีนจะเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยแล้ว จีนยังมีบทบาทสำคัญในฐานะพี่น้องที่ช่วยเกื้อกูลและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทั้งนี้ หอการค้าฯ ถือเป็นองค์กรภาคเอกชนไทย มีเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 156,000 ราย โดยเฉพาะเครือข่ายหอการค้าจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่จัดตั้งขึ้นโดยการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการไทยเชื้อสายจีน และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดให้เจริญเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ รูปแบบการค้าสมัยใหม่ โดยเฉพาะ E-Commerce มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสองประเทศ ซึ่งจีนถือเป็นต้นแบบที่ดีที่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตและ Supply Chain ในการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการผลิตจนประสบความสำเร็จ และสามารถสร้างแพลตฟอร์มระดับโลกที่สามารถเปิดตลาดการค้าของจีนได้ทั่วโลก ดังนั้น การเข้ามาลงทุนของจีนในในประเทศไทย นอกจากจะช่วยสร้างการจ้างงานและการเจริญเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังถือเป็นโอกาสสำคัญที่จีนจะช่วยให้ไทยสามารถยกระดับศักยภาพจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีน

นอกจากนี้ ในด้านการศึกษา หอการค้าไทย ในฐานะ เจ้าของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัดหลักสูตร “หลักสูตรเทพเซียน” ที่เน้นให้ผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และการใช้ภาษาจีนเพื่อการเจรจาธุรกิจ ซึ่งดำเนินการมาแล้วถึง 4 รุ่น เกิดเครือข่ายภาครัฐ เอกชนระหว่างสองประเทศที่แน่นแฟ้น จึงมั่นใจว่าการจัดตั้ง “กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีนอย่างยั่งยืน” จะเป็นอีกหนึ่งกลไกของภาคเอกชนไทยและจีน ในการพูดคุยหาแนวทางและมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการค้า ตลอดจนเป็นเวทีในการพัฒนาและยกระดับรูปแบบการค้า การลงทุน เพื่อนำเสนอไปยังรัฐบาลของสองประเทศ ให้ได้รับทราบถึงสถานการณ์ และความท้าทาย ตลอดจนโอกาสใหม่ ๆ เพื่อกำหนดนโยบายระหว่างประเทศที่สร้างสรรค์ร่วมกันต่อไป

ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล

ขณะที่ นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล กล่าวเสริมว่า หอการค้าไทย-จีน  ยินดีสนับสนุนการจัดตั้ง “กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีนอย่างยั่งยืน” ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่จะเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้งและรอบด้านของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนของ 2 ประเทศ และเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการกระชับความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 2568 

หอการค้าไทย-จีน ได้จัดตั้งสหพันธ์หอการค้าไทย-จีนและสมาคมธุรกิจต่างๆ กว่า 80 สมาคม (สหพันธ์ฯ) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารและโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ระหว่างผู้ประกอบการไทยและจีน และเพื่อเสริมสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้ประกอบการชาวจีนในประเทศไทย  โดยมุ่งหวังที่จะให้สหพันธ์ฯ มีบทบาทในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจไทย-จีน ให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน 

เฉิน หวา

ส่วน นางสาวเฉิน หวา กล่าวถึงความสำคัญของกลไกนี้ว่า เป็นก้าวสำคัญที่แสดงถึงความมุ่งมั่นที่การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีความยั่งยืนระหว่างสองประเทศ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่น่ายินดีและเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่สำหรับพวกเราทุกคน การก่อตั้ง “กลไกความร่วมมือเพื่อการประสานและส่งเสริมการค้าที่ยั่งยืนระหว่างไทย-จีน”  และเชื่อมั่นว่าการดำเนินการตามแผนทั้ง 9 ข้อนี้จะวางรากฐานที่มั่นคงยิ่งขึ้นสำหรับความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในอนาคต  สมาคมการค้าวิสาหกิจจีนในประเทศไทย จะใช้ศักยภาพของแพลตฟอร์มที่มีอยู่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศต่อไป และเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือนี้จะนำพาทั้งไทยและจีนไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สมาคมการค้าวิสาหกิจจีนในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2544 มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงบริษัทจีนกับไทย ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 365 บริษัท รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่จากจีนที่ติดอันดับโลก โดยมี 48 บริษัทจีนที่ติดอันดับ TOP 500 ของโลก และ 79 บริษัทจีนที่ติดอันดับ TOP 500 ของจีน เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ทั้งนี้ เชื่อว่าการลงทุนจากบริษัทจีนในไทยได้เสริมสร้างเศรษฐกิจและพัฒนาเทคโนโลยีให้กับประเทศ สำหรับความร่วมมือในอนาคต เราจะดำเนินการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจจีนกับ SME ของไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กลไกนี้จะเป็นช่องทางหลักในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีน และเราหวังว่าจะสามารถช่วยลดข้อกังวลและอุปสรรคต่างๆ ที่ภาคธุรกิจทั้งสองประเทศเผชิญหน้า พร้อมกันนี้ยังเป็นโอกาสที่ดีในการขยายความร่วมมือไปยังอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจทั้งสองประเทศให้เติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง

สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคต กลไกนี้จะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่สอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงสนับสนุนสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีและเป็นกลางระหว่างสังคมไทยและจีน ซึ่ง การจัดตั้ง “กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีนอย่างยั่งยืน” ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำพาความร่วมมือทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศไปสู่อนาคตที่สดใสและยั่งยืน คาดว่าภายใน 3 เดือนนับจากนี้ คณะทำงานของกลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีนอย่างยั่งยืน จะได้นำข้อสรุปและข้อเสนอแนะ รวมถึงความวิตกกังวลที่ได้รับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาประมวลผล เพื่อกำหนดแผนงานในการดำเนินการ เชื่อว่าจะแล้วเสร็จและสามารถแถลงข่าวความคืบหน้าให้ได้รับรู้กันในปลายปีนี้หรืออย่างช้าในต้นปีหน้า

ในช่วงการถามตอบ ผู้สื่อข่าวถามว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดดุลการค้าให้กับจีนเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น จะมีแนวทางหรือข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร? ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กล่าวในฐานะตัวแทนกลไกฯ ว่า ข้อเท็จจริงการนำเข้าสินค้าจากจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุนและเครื่องจักร ที่ฝ่ายไทยนำเข้ามาเพื่อแปรรูปและผลิตเพื่อการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งแม้ไทยจะขาดทุนการค้ากับจีน แต่ก็ได้ดุลการค้ากับอีกหลายๆ ประเทศ แต่โดยสรุปแล้วไทยได้ประโยชน์จากการนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักรเพื่อนำมาผลิตและส่งออกไปขายต่างประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้แก่ภาคแรงงานของไทย รวมถึงมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและมั่นคง

นายสนั่น อังอุบลกุล กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและเครื่องจักร จนดูเหมือนว่าไทยขาดดุลการค้าจีนเป็นจำนวนมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะมีนักลงทุนจากจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ที่สั่งนำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้ เพื่อนำมาผลิตและส่งออก รวมถึงเพิ่มกำลังการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกับไทย

สำหรับ ประเด็นปัญหาจากแพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ต่างประเทศไทย นั้น ประธานหอการค้าไทยฯ กล่าวว่า ขณะนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนไทยกำลังหารือถึงแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อมาบังคับใช้กับธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ทั้งเรื่องที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือสำนักงานตัวแทนในไทย เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา รวมถึงการจัดการปัญหาช่องทางการชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มการรับโอนเงินของต่างชาติ โดยไม่ผ่านการกำกับดูแลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างรู้สึกเป็นกังวล เพราะไม่เพียงทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ แต่ยังเป็นการเอาเปรียบในทางการค้ากับผู้ประกอบการไทย อีกด้วย

ประสงค์ เอาฬาร (ซ้ายสุด)

ขณะที่ นายประสงค์ เอาฬาร รองประธานหอการค้าไทย-จีน ระบุว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างประเทศอื่นๆ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนและผู้ประกอบการไทย ที่จะสั่งนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและเครื่องจักรจากต่างประเทศเข้ามาผลิตเพื่อการส่งออก ทั้งนี้ เชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นประโยขน์และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว

ส่วนคำถามที่ว่า บทบาทของ“กลไกความร่วมมือเพื่อการประสานและส่งเสริมการค้าที่ยั่งยืนระหว่างไทย-จีน” ในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร? จะมีความยั่งยืนแค่ไหน? และอนาคตจะพัฒนาเป็นสมาคมหรือไม่? อย่างไร? ประเด็นนี้ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กล่าวว่า ทั้ง 3 องค์กรจัดตั้งมายาวนาน มีเครือข่ายสมาชิกกระจายอยู่มากมาย และจะยังดำเนินงานในภารกิจของแต่ละองค์กรต่อไปอีกยาวนาน ซึ่งนั่นหมายความว่า การดำเนินงาน ของ “กลไกความร่วมมือเพื่อการประสานและส่งเสริมการค้าที่ยั่งยืนระหว่างไทย-จีน” จะยังคงเดินหน้าต่อไปตราบเท่าที่องค์กรนำทั้ง 3 แห่งยังดำรงอยู่ ส่วนการจัดตั้งสมาคมขึ้นมารองรับหรือไม่ในอนาคตนั้น ตนขอย้ำว่า ทั้ง 3 องค์กรที่มีขนาดใหญ่มาก เกินกว่าจัดตั้งเป็นสมาคมใดๆ ได้ ดังนั้น ความร่วมมือจึงยังคงเป็นไปในลักษณะ  “กลไกความร่วมมือฯ” เช่นนี้ต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password