ซีพี ออลล์ ยกระดับอาชีพเพาะกล้าไม้ สู่วิสาหกิจชุมชน จ.สุรินทร์ สร้าง ‘รายได้-เครือข่าย’ พื้นที่สีเขียวยั่งยืน
ซีพี ออลล์ เดินหน้าสนับสนุนการเพาะกล้าไม้ ในโครงการ “ปลูกป่า ปลูกอนาคต” ประจำฤดูกาลปลูกปี 2566 พร้อมมอบทุนให้กับคณะทำงานกลุ่มต้นน้ำเพาะกล้าไม้ จ.สุรินทร์ ทั้งกลุ่มวิสาหกิจฯและสถาบันการศึกษาตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวผ่านการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นในปี 2568 ภายใต้นโยบาย 7 Go Green มุ่งขยายเครือข่ายต้นน้ำเพาะกล้าไม้ไปยังศูนย์เพาะพันธุ์กล้าไม้ในทุกภูมิภาค สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เพิ่มรายได้ ส่งมอบสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืนตามหลัก 3 ประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์
นายประสิทธิ์ ฉกาจธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่น และ เซเว่นเดลิเวอรี่ ได้สนับสนุนพี่น้องเกษตรกร ชุมชน โรงเรียน และมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโครงการเพาะและอนุบาลกล้าไม้เพื่อนำไปส่งมอบให้กับโครงการต่างๆ ในแหล่งปลูกต่างๆได้กว่า 157,050 ต้นในปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โครงการต่างๆ ได้จำนวนต้นไม้มากกว่าที่ได้ตั้งเป้าไว้
สำหรับ โครงการ “ปลูกป่า ปลูกอนาคต” ปี 2566 นี้ ซีพี ออลล์ได้มอบทุนสนับสนุนการเพาะกล้าไม้ประจำฤดูกาลปลูก ให้กับศูนย์กระจายและเพาะพันธุ์กล้าไม้ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดย “ชุมชนโนนนารายณ์” จ.สุรินทร์ หนึ่งในชุมชนที่บริษัทฯได้สนับสนุนให้เป็น ศูนย์เพาะพันธุ์กล้าไม้ ผู้นำชุมชนได้เห็นโอกาสในการสานต่ออาชีพ เสริมรายได้ให้กับพี่น้องในชุมชน จึงได้ยกระดับจดทะเบียนจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ภายใต้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วิสาหกิจชุมชนเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขบนผืนดินเดิม” พร้อมที่จะขยายช่องทางการสร้างรายได้จากเพียงแค่จำหน่ายพันธุ์กล้าไม้ มาจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่เก็บจากใต้ต้นไม้ในท้องถิ่นซึ่งมีมากถึง 25 ชนิดพันธุ์ไม้ซึ่งล้วนแล้วแต่มีค่าทางเศรษฐกิจ อาทิเช่น ตะคร้อ พันชาด สักทอง มะค่าโมง มะค่าแต้ มะฮอกกานี พยอม ตะเคียน ฯลฯ รวมถึงจำหน่ายอุปกรณ์ วัสดุปลูกที่ได้จากดินท้องนา และเชื่อว่าวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้จะสร้างรายได้ สร้างอาชีพ อย่างยั่งยืน
และในส่วนของ โรงเรียนมหิธรวิทยาและโรงเรียนศรีไผทสมันต์ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 2 แห่งจะเริ่มหลักสูตรโรงเรียนป่าไม้ที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลาง เพื่อจัดการเรียนการสอนผ่านการลงมือปฏิบัติ (Active Learning) ควบคู่ไปกับกิจกรรมเพาะ อนุบาล ปลูก และติดตามเก็บข้อมูลการเจริญเติบโตของต้นไม้ เช่นเดียวกันกับคณะเกษตรกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ที่จะเพิ่มเนื้อหาในการบริหารจัดการการปลูกป่าเพื่อนำไปสู่การขอรับรองกิจกรรมเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก หรือ LESS (Low Emission Support Scheme)
ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้ทำการรังวัด สำรวจพันธุ์ไม้ รวบรวมข้อมูลบนพื้นที่แปลงปลูกจำนวน 15 ไร่ ของวัดป่าบวรสังฆาราม จ.สุรินทร์ยื่นเสนอต่อองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จนได้รับเกียรติบัตรรับรองเป็นที่เรียบร้อย ก่อนขยับไปสู่การรับรองเพื่อขึ้นทะเบียนจำหน่ายคาร์บอนเครดิตในกรอบแนวคิด T-VER ต่อไปในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างทักษะ เสริมแนวคิด ก่อเกิดเป็นอาชีพรองรับยุวรุกขกร ยุวเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะจบการศึกษา สอดรับกับกระแสนโยบายการ ให้ความสำคัญในการส่งเสริมดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจไทยในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ ซีพี ออลล์ เริ่มดำเนินโครงการปลูกต้นไม้ ตั้งแต่ปี 2563 ดำเนินการปลูกไปแล้วกว่า 3 แสนต้น ซึ่งได้จากแหล่งอนุบาลกล้าไม้และแหล่งเพาะพันธุ์กล้าไม้ในพื้นที่ต่างๆ โดยในปีนี้ตั้งเป้าขยายชุมชนต้นน้ำเพาะกล้าไม้ไปอีกกว่า 14 แห่งทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อกระจายรายได้ สร้างอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชนอย่างมั่นคง สอดคล้องรองรับกับเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ เป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 ตามปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน”.