ปลื้มความสำเร็จ! ‘บสย. สร้างชีวิตใหม่’ ชี้! 5 ปี คืนผู้ต้องขังกลับสู่สังคม ‘เริ่มต้นอาชีพ-ธุรกิจ’ กว่า 2.5 พันคน
“สิทธิกร ดิเรกสุนทร” ปลื่ม! ความสำเร็จ โครงการ “บสย. สร้างชีวิตใหม่” ชี้! ตลอด 5 ปี สร้างโอกาสผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคม เริ่มต้นอาชีพ-ธุรกิจ กว่า 2,537 คน ล่าสุด จับมือ “เรือนจำสระบุรี – กอช. – อ.ส.ค.” เปิดกิจกรรม “ส่งเสริมโอกาสทางอาชีพอย่างยั่งยืน” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง ร.9 พร้อมเปิดช่อง “ผู้ต้องขังพ้นโทษ” ปรึกษาทำธุรกิจ รับสินเชื่อ โดย บสย.ช่วยค้ำฯ 200,000 บาทต่อราย ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs และสำนักงานเขต บสย. 11 แห่งทั่วไทย หรือผ่าน Line OA : @tcgfirst ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นางสาวกมลทิพย์ อ้นขวัญเมือง ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสระบุรี นายยรรยง ราชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ดร.นวนน จันทรประสาน หัวหน้ากองพัฒนาการเลี้ยงโคนม องค์การส่งเสริมโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ร่วมเปิดกิจกรรม “ส่งเสริมโอกาสทางอาชีพอย่างยั่งยืน” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยภายในงานฯ บสย. ได้บรรยายให้ความรู้ด้านการเงิน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการเตรียมความพร้อมก่อนเป็นผู้ประกอบการ และมีพันธมิตรจาก กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการออมเงินหลังเกษียณ และ องค์การส่งเสริมโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ให้ความรู้การส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมพระราชทาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กลุ่มผู้ต้องขังชาย และหญิง ที่กำลังพ้นโทษ ก้าวสู่การสร้างอาชีพในอนาคตอย่างยั่งยืน ณ เรือนจำจังหวัดสระบุรี จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567
นายสิทธิกร กล่าวว่า กิจกรรม “ส่งเสริมโอกาสทางอาชีพอย่างยั่งยืน” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “บสย. สร้างชีวิตใหม่” ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2563 เป็นโครงการที่ บสย. ริเริ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะ และคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้ต้องขังที่กลับคืนสู่สังคม ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ เริ่มต้นธุรกิจ และลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ โดยใช้ศักยภาพขององค์กร ด้านการค้ำประกันสินเชื่อ และความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน เพื่อช่วยเหลือ และส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มเปราะบาง ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม พร้อมส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบอย่างยั่งยืน
โครงการ “บสย. สร้างชีวิตใหม่” ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 5 ปี ช่วยผู้ต้องขังมอบโอกาสความรู้ทางการเงิน การเริ่มต้นในการประกอบอาชีพ รวมกว่า 2,537 คน แบ่งเป็น ผู้ต้องขังที่ผ่านการอบรมตั้งแต่ปี 2563-2566 รวม 1,740 คน และ ในปี 2567 ได้เพิ่มความเข้มข้นของโครงการ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังสร้างชีวิตใหม่มากยิ่งขึ้น โดยจัดอบรมในเรือนจำและทัณฑสถานรวม 13 แห่ง มีผู้เข้ารับการอบรมรวม 797 คน ซึ่งกิจกรรม “ส่งเสริมโอกาสทางอาชีพอย่างยั่งยืน” ณ เรือนจำจังหวัดสระบุรี ถือเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ ตอกย้ำความมุ่งมั่น “บสย. ทำจริง ทำถึง ” ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคมอย่างยั่งยืน
“โครงการ บสย. สร้างชีวิตใหม่ มุ่งสนับสนุนการสร้างงานสร้างอาชีพกลุ่มผู้ต้องขังหลังการพ้นโทษ โดยผนึกพันธมิตรร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจ พร้อมเสริมศักยภาพในการสร้างอาชีพให้กับกลุ่มผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการเสริมความรู้ สร้างโอกาสการเริ่มต้นใหม่ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพ ตามพันธกิจของ บสย. ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.” นายสิทธิกร กล่าว
อนึ่ง ภายใต้โครงการนี้ บสย. ตั้งเป้าหมายช่วยกลุ่มผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ ที่ต้องการขอสินเชื่อเพื่อนำมาเริ่มต้นอาชีพ หรือทำธุรกิจหลังพ้นโทษ ได้รับสินเชื่อผ่านการค้ำประกันของ บสย. เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 200,000 บาท นอกจากนี้ ยังมุ่งเสริมศักยภาพในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการอบรมบ่มเพาะความรู้ การเตรียมความพร้อมในการประกอบธุรกิจ และการวางแผนทางการเงินให้กับกลุ่มผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs และสำนักงานเขต บสย. ทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ หรือลงทะเบียนขอรับคำปรึกษาผ่าน Line OA : @tcgfirst ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการช่วยเหลือผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ ในปีนี้ บสย. ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับกรมราชทัณฑ์ มูลนิธิ ณภาฯ และ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อร่วมดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นระบบ มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษให้เข้าถึงโอกาสในการประกอบอาชีพ และเข้าถึงสินเชื่อในระบบ รวมถึงเข้าถึงระบบการออมเงินจากภาครัฐเพื่อสร้างความมั่นคงในยามชราภาพ ยกระดับคุณภาพของผู้ต้องขังเรื่องการฝึกอาชีพของกรมราชทัณฑ์ โดยร่วมกันพัฒนาพฤตินิสัยและเพิ่มศักยภาพด้านฝีมือให้กับผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการให้โอกาส.