BAM แจงผลเรียกเก็บครึ่งปีแรก 7.3 พันล.- ขยายพอร์ตเกิน 2.2 หมื่นล.- ลุ้นทำแผนขาดทอดตลาดคืนเงินจมบังคับคดี   

BAM พอใจผลงานครึ่งแรกปี’66 สร้างผลเรียกเก็บ 7.3 พันล้านบาท เฉพาะไตรมาส 2 โตจากไตรมาสก่อน 28% ชี้! มีกำไร 425 ล้านบาท ส่วนการลงทุนซื้อทรัพย์โตแรง 296% โดยซื้อทรัพย์เข้ามาบริหาร(ภาระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย) กว่า 2.24 พันล้านบาท ชี้! กลยุทธ์ครึ่งหลังปีนี้ รุกธุรกิจเต็มสูบทั้งด้าน NPL/NPA อาทิ การบริหารจัดการ Clean Loan และการนำทรัพย์ราคาพิเศษจัดแคมเปญลดจัดหนักกว่า 10,000 รายการ พร้อมเร่งประมูลหนี้มาบริหารเพิ่มกว่า 70,000 ล้านบาทภายในปีนี้ หวังดันผลเรียกเก็บทั้งปีเข้าเป้า 17,800 ล้านบาท เผย! เร่งเจรจากรมบังคับคดี ลุ้นส่งทีมงานเดินหน้าทำแผนขายทรัพย์ทอดตลาด หวังดึงเงินคืนครึ่งนึง รวม 7 พันล้านบาท

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวถึงผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2566 ว่า ผลประกอบการโดยรวมอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีผลเรียกเก็บ 7,357 ล้านบาท เฉพาะไตรมาสที่ 2 มีผลเรียกเก็บ 4,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 (3,230 ล้านบาท)28% กำไร 425 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 59%  จากไตรมาสที่ 1 (267 ล้านบาท) 

ด้านการ บริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) BAM ได้สร้างผลเรียกเก็บด้วยกลยุทธ์การสร้างโอกาสและเร่งการประนอมหนี้ ได้แก่ โครงการช่วยเหลือลูกหนี้หลายโครงการ เช่น โครงการสุขใจได้บ้านคืน โครงการ BAM ช่วยฟื้นคืนธุรกิจ และโครงการ BAM ช่วยลดเพื่อปลดหนี้เกษตรกร รวมทั้ง การเร่งการติดต่อลูกหนี้ และเร่งกระบวนการขายทอดตลาด เช่น แถลงเร่งประกาศขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกัน แถลงเร่งจัดทำบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงิน และร่วมมือกับกรมบังคับคดีจัดมหกรรมขายทอดตลาด เป็นต้น 

“เรายังมีสินทรัพย์อยู่กับกรมบังคับคดีราว 14,000 ล้านบาท โดยพยายามจะประสานงานเพื่อให้สินทรัพย์ในส่วนนี้ได้ถูกนำมาขายทอดตลาด เพื่อที่จะได้รับคืนเงินรายได้กลับคืนมา แต่เนื่องจากกรมบังคับคดีมีบุคลากรไม่เพียงพอ ขณะที่การเร่งรัดมากไปอาจเสี่ยงกับการกระทำผิด ม.157 ได้ เบื้องต้น BAM ได้ประสานเพื่อขอดำเนินการจัดทำรายละเอียดของสินทรัพย์ที่จะนำมาขายทอดตลาดในส่วนของ BAM จัดส่งให้ทางกรมบังคับคดีได้พิจารณา ก่อนตัดสินใจดำเนินการขายทอดตลาด ซึ่งหากการดำเนินงานในส่วนนี้ทำได้เร็วขึ้น โอกาสที่ BAM จะได้รับรู้รายได้ในส่วนนี้ ก็จะเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายว่าหากมีการรับรู้รายได้กึ่งหนึ่ง (7,000 ล้านบาท) ในปีนี้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก” นายบัณฑิต กล่าวและว่า นอกจากนี้ BAM ยังมีการชำระค่าภาษีจากการซื้อสินทรัพย์ (NPL) เข้ามาเก็บในพอร์ต แม้ในทางบัญชี BAM จะยังไม่มีรายรับเข้ามา แต่ในทางระบบภาษีถือว่ามีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นแล้ว และจะต้องชำระเงินค่าภาษีฯให้กับรัฐ ซึ่งที่ผ่านมา BAM มีภาระภาษีในส่วนนี้ราว 5,000 ล้านบาท จำเป็นจะต้องหาทางลดรายจ่ายในส่วนนี้ต่อไป

พร้อมกันนี้ BAM ยังได้ช่วยเหลือลูกหนี้ที่เปรียบเสมือนฮีโร่ของสังคมไทย ซึ่งได้เสียสละเวลาพักผ่อนเวลาส่วนตัวและความสะดวกสบายมาแก้ไขปัญหาในช่วงที่เกิดโรคระบาดและสาธารณภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล ตำรวจ ทหาร ครู และ อสม. ภายใต้โครงการ BAM for Thai Heros โดยในช่วง ครึ่งปีแรกสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ไปได้เป็นจำนวน 82 ราย คิดเป็นยอดประนอมหนี้ 131 ล้านบาท และยังได้เตรียมให้สิทธิพิเศษสำหรับฮีโร่ดังกล่าวที่ซื้อทรัพย์สินรอการขายของ BAM อีกด้วย 

ขณะที่ การบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) BAM ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง โดยการออกบูธและจัดแคมเปญต่าง ๆ เพื่อสร้างยอดเสนอซื้อ การจัดการทรัพย์ให้พร้อมขาย (Renovate) การจำหน่ายทรัพย์ให้นักลงทุนรายย่อย ตลอดจนการกำหนดทรัพย์ราคาพิเศษ และการเพิ่มฐานลูกค้าผ่อนชำระอย่างต่อเนื่อง 

ตลอดระยะเวลา 24 ปีที่ผ่านมา BAM ได้ทำหน้าที่เสมือน “แก้มลิง” ที่ช่วยรองรับหนี้เสียของสถาบันการเงิน นำมาบริหารจัดการและแก้ไขให้กลายเป็นหนี้ดีกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจ และยังทำหน้าที่ฟื้นฟูอสังหาริมทรัพย์มือสองที่เป็นทรัพย์สินรอการขายของบริษัทฯ ให้มีมูลค่าเพิ่มและเป็นที่ต้องการของตลาด  โดยที่ผ่านมา BAM สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติในการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 146,121 ราย คิดเป็นภาระหนี้ 466,871 ล้านบาท และสามารถจำหน่ายทรัพย์ไปแล้ว จำนวน 49,216 รายการ คิดเป็นราคาประเมิน 107,319 ล้านบาท

ปัจจุบัน BAM มี NPL อยู่ในความดูแล คิดเป็นภาระหนี้รวม 481,578 ล้านบาท และ NPA มูลค่าราคาประเมิน 69,275 ล้านบาท  

นายบัณฑิต ยังได้กล่าวถึงกลยุทธ์ในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ว่า BAM ยังคงเดินหน้าด้วยกลยุทธ์เชิงรุกอย่างต่อเนื่องด้วยการบริหารจัดการ NPL หลากหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการ Knock Door  การพัฒนาแอพพลิเคชั่น BamGo Digital เพื่อสร้างระบบการให้บริการประนอมหนี้ออนไลน์ (E-TDR) ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ภายในปลายปี 2566  พร้อมทั้ง การบริหารจัดการ Clean Loan เพื่อสร้างผลเรียกเก็บได้โดยเร็ว  ส่วนการบริหารจัดการ NPA นั้น BAM ได้ทำการคัดทรัพย์ราคาพิเศษกว่า 10,000 รายการ เพื่อจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดจำหน่ายทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการครบเครื่องเรื่องบ้าน by BAM โครงการ BAM for Thai Heroes และเตรียมจัดมหกรรมจำหน่ายทรัพย์ในโอกาส BAM ก้าวสู่ปีที่ 25 ในช่วงปลายปีนี้ พร้อมทั้ง ยังแสวงหาโอกาสในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการให้เช่าทรัพย์สินรอการขาย และการปรับรูปแบบธุรกิจ ซึ่งจะช่วยทำให้ BAM สามารถสร้างผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 17,800 ล้านบาท  

ด้าน นายสันธิษณ์ วัฒนกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทำหน้าที่ผู้บริหารสูงสุดทางด้านการเงิน (CFO) กล่าวเสริมว่า การรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเพื่อขยายพอร์ตในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 BAM ได้เข้าประมูลซื้อหนี้ NPL มาบริหารจัดการ คิดเป็นภาระหนี้ (เงินต้นบวกดอกเบี้ย) รวม 22,408 ล้านบาท มีการเติบโตสูงถึง 296% เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันกับปี 2565 ที่มีการซื้อทรัพย์มาบริหาร 5,658 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สถาบันการเงินมีการทยอยนำ NPL ออกมาประมูลขายในปริมาณมากอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยอยู่ระหว่างรอผลการประมูลและการทำ Due Diligence คิดเป็นภาระหนี้ 71,203 ล้านบาท ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานภาพรวม NPLในระบบสถาบันการเงิน ณ ไตรมาสที่ 1 มีจำนวน 497,952 ล้านบาท คิดเป็น 2.67% ของสินเชื่อรวมในระบบสถาบันการเงิน จึงเป็นโอกาสที่ BAM จะเข้าประมูลซื้อ NPL เข้ามาบริหารจัดการต่อไป 

ทั้งนี้ ในการดำเนินธุรกิจ AMC (บริหารสินทรัพย์) นั้น ปกติเงินที่ลงทุนไป จะเริ่มมีการรับรู้รายได้ในปีแรก แต่กว่าจะได้คืนทุนก็ต้องรอให้ถึงปีที่ 7 ซึ่งจากนี้ไป BAM มีกลยุทธ์ในการที่จะร่นระยะเวลาการดำเนินงานในเร็วขึ้นเหลือ 5-6 ปี โดยพยายามติดต่อลูกหนี้และสร้างแรงจูงใจในการชำระหนี้ แม้จะทำให้กำไรลดลงไปบ้าง แต่หากระยะเวลาการคืนทุนเร็วขึ้น BAM ก็มีโอกาสจะนำเงินทุนเหล่านั้นไปซื้อสินทรัพย์มาบริหารจัดการได้เร็วขึ้น และมีแนวโน้มจะทำกำไรได้มากขึ้นด้วย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password