บสย. ผนึก 18 สถาบันการเงิน อัดฉีดสินเชื่อพร้อมค้ำประกัน ‘เติมทุน SMEs’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 2 แสนลบ.

บสย.ผนึกความร่วมมือ 18 สถาบันการเงิน หนุนผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ ลงนามเอ็มโอยูร่วมมือโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 10  “บสย. SMEs เข้มแข็ง” วงเงิน 50,000 ล้านบาท ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พลิกฟื้น เติมทุน มั่นใจช่วย SMEs กว่า 100,000 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2 แสนล้านบาท รักษาการจ้างงานกว่า 7 แสนอัตรา ด้าน “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ยัน! รัฐบาลให้ความสำคัญกับ SMEs ไทย สั่งขยายเวลาโครงการเงินกู้ซอฟท์โลนวงเงินที่เหลือกว่า 6.1 หมื่นล้านบาท หวังให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ต่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่วน ประธานฯหอการค้าไทย ระบุ พร้อมแจ้งหอการค้าทั่วประเทศ เพื่อสื่อถึง ผู้ประกอบการ SMEs พื้นที่เข้าถึงสินเชื่อและการค้ำประกันรอบใหม่

วันที่ 15 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็น ประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme PGS ระยะที่ 10 (PGS 10) “บสย. SMEs เข้มแข็ง” ระหว่าง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ 18 สถาบันการเงิน พร้อมใจ เติมทุน เสริมสภาพคล่อง เพื่อธุรกิจเติบโตยั่งยืน พร้อมด้วย นายชื่นชอบ คงอุดม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงการคลัง) นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอนุกรรมการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ สาขาสถาบันการเงิน  นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นางวิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ผู้บริหารสถาบันการเงิน หน่วยงานพันธมิตร ร่วมงาน โดยมี นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. และคณะผู้บริหารระดับสูงฯ คอยให้การต้อนรับ ซึ่งนับเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญทางการเงินและค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อผู้ประกอบการ SMEs ไทย เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

นายอาคม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีรวมกันมากถึงร้อยละ 90 ของผู้ประกอบการทั้งหมดที่มีในประเทศราว 3 ล้านราย และมีการจ้างงานรวมกันมากถึงร้อยละ 72 ของการจ้างงานทั้งระบบ ซึ่งรัฐบาลเพิ่งขยายเวลาการปล่อยสินเชื่อแก่สถาบันการเงินในโครงการเงินซอฟท์โลน (ดอกเบี้ยต่ำ) เพื่อนำไปปล่อยต่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ต่อไปอีก 1 ปี โดยมีวงเงินรวมเหลืออยู่ประมาณ 61,500 ล้านบาท ซึ่งเงินกู้ในโครงการดังกล่าวนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถนำไปพ่วงกับการค้ำประกันเงินกู้ของบสย.ในโครงการ PGS 10 ที่มีวงเงิน 50,000 ล้านบาทในครั้งนี้ได้ทันที  

ด้าน กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวเสริมว่า โครงการ PGS 10 ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการฯ ในวงเงิน 50,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ระยะเวลาโครงการ 2 ปี ถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 และเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจและความร่วมมือจาก 18 สถาบันการเงิน โดยจะร่วมกันผลักดันและช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากกว่า 100,000 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 200,000 ล้านบาท และ รักษาการจ้างงานกว่า 700,000 อัตรา

จุดเด่นของ “บสย. SMEs เข้มแข็ง” คือ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมค้ำประกันสินเชื่อที่พัฒนาขึ้นตอบโจทย์ SMEs 6  กลุ่ม (Segment) ได้แก่

1) สตาร์ท อัพ (Start up) เพื่อนักศึกษาจบใหม่ อาชีพอิสระ วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท รวมทุกสถาบันการเงิน ค่าธรรมเนียมค้ำ 3% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก ปีถัดไปจ่ายคนละครึ่ง ตลอดอายุการค้ำประกัน 

2) สมอลล์ บิซ (Small Biz) เงินทุนหมุนเวียนเพื่อรายย่อย พ่อค้า แม่ขาย วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 200,000 บาท รวมทุกสถาบันการเงิน ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก 

3) สมาร์ท วัน (Smart One) เสริมสภาพคล่อง ค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก

4) สมาร์ท บิซ (Smart Biz) เพื่อ SMEs ขนาดกลางและเล็ก วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.25% ต่อปี ฟรี 3 ปีแรก

5) สมาร์ท กรีน (Smart Green) เสริมศักยภาพธุรกิจ สู่ ESG และ BCG เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.5% ต่อปี ฟรี 4 ปีแรก

และ 6) สมาร์ท พลัส (Smart Plus) วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs สามารถลงทะเบียน บริการรับคำปรึกษา ตรวจสุขภาพทางการเงินฟรี 24 ชั่วโมง ผ่านช่องทาง Line TCG First  (@tcgfirst)

“วงเงินค้ำประกันในโครงการ PSG10 ของ บสย.จำนวน 50,000 ล้านบาท จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงช่วยให้สถาบันการเงินที่ร่วมโครงการฯดำเนินงานได้ง่ายขึ้น คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบเอสเอ็มอีทั่วประเทศสามารถเข้าถึงเงินกู้ในระบบสินเชื่อรวมกันราว 60,000 ล้านบาท แต่จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 200,000 ล้านบาท” นายสิทธิกรระบุ

ส่วน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า โครงการนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างมาก ซึ่งการประชุมสภาหอการค้าไทยจากทั่วประเทศที่จะมีขึ้นในบ่ายวันเดียวกันนี้ ตนจะได้ ประชาสัมพันธ์ไปถึงตัวแทนหอการค้าไทยในจังหวัดต่างๆ เพื่อนำข้อมูลข่าวสารดังกล่าวไปเผยแพร่สู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ต่อไป ดังนั้น จึงขอฝากให้สถาบันการเงินทุกแห่งได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่คอยให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกในการติดต่อขอรับประกันเงินกู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศด้วย

อนึ่ง 18 สถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการ  ได้แก่ 1. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย  2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 3. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 4. ธนาคารออมสิน 5. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 6. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 7. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 8. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 9. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 10. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) 11. ธนาคารทหารไทย ธนชาต จำกัด (มหาชน) 12. ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) 13. ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) 14. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 15. ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) 16. ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) 17. บริษัท คาร์ด เอ็กซ์ จำกัด  18. บริษัท ไฮเวย์ จำกัด.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password