ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับต่ำ – สหรัฐฯ จ่อสิ้นสุดการผ่อนปรนมาตรการภาษีนำเข้า 9 ก.ค. นี้

ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับต่ำ หลังตลาดกังวลโอเปกพลัสเพิ่มกำลังการผลิต ขณะที่สหรัฐฯ จ่อสิ้นสุดการผ่อนปรนมาตรการภาษีนำเข้าในวันที่ 9 ก.ค. นี้
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 60-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 63-73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (4 ก.ค. 68 – 10 ก.ค. 68)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำจากแรงกดดันด้านอุปทานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดคาดว่าโอเปกพลัสจะยังคงเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน ส.ค. 68 ขณะที่คาซัคสถานมีแนวโน้มผลิตน้ำมันเกินโควตาเนื่องจากบริษัทพลังงาน ของรัฐปรับเพิ่มคาดการณ์ผลผลิตในปีนี้ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนจากมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ของสหรัฐฯ ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 9 ก.ค. นี้ ยังคงกดดันเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์น้ำมัน หากสหรัฐฯ เดินหน้าเพิ่มอัตราภาษีกับประเทศคู่ค้า ส่งผลให้เฟดยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 4.25%–4.50% และอาจเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปี อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันยังได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มอุปสงค์ ในจีนที่ฟื้นตัวตามการขยายตัวของภาคการผลิตในเดือน มิ.ย. 68
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
• ตลาดจับตาการประชุมของกลุ่มสมาชิกโอเปกพลัสที่จะจัดขึ้นในวันที่ 6 ก.ค. 68 เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 68 ทั้งนี้ หลายฝ่ายคาดว่า โอเปกพลัสจะยังคงเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในระดับสูงที่ 411,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค. 68 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังคาดว่าหากโอเปกพลัสยังคงเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตในระดับสูงต่อเนื่องอาจส่งผลให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิต 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ อุปทานน้ำมันดิบที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากมาตรการภาษีศุลกากรอาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดในช่วงไตรมาส 3/68 และ 4/68
• ขณะเดียวกัน บริษัทพลังงานของรัฐแห่งคาซัคสถานปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขการผลิตน้ำมันดิบของคาซัคสถานเป็น 2 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือ 97.7 ล้านตัน โดยปรับเพิ่มคาดการณ์ผลผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอย่าง Tengiz ขึ้น 900,000 ตัน และเพิ่มคาดการณ์ผลผลิตที่ Kashagan และ Karachaganak ขึ้น 200,000 ตันและ 360,000 ตัน ตามลำดับ ขณะเดียวกันสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานคาซัคสถานผลิตน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 68 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.88ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าโควตาการผลิตน้ำมันดิบที่ตกลงกับกลุ่มโอเปกในเดือน มิ.ย. 68 อยู่ที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
• ตลาดจับตาเส้นตายมาตรการผ่อนผันการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 9 ก.ค. 68 โดยล่าสุด นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เผยจะไม่ขยายระยะเวลาผ่อนผันการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ พร้อมแจ้งเตือนหากประเทศคู่ค้ายังไม่บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ การขึ้นภาษีนำเข้าดังกล่าวจะมีผลทันที ทั้งนี้ ปัจจุบันสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหราชอาณาจักรและเวียดนามเท่านั้น ขณะเดียวกัน รมว. กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เผยว่าอินเดียใกล้บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ภายในวันที่ 6 ก.ค. 68 นี้ ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนด้านมาตรการภาษีการค้าได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและกดดันความต้องการใช้น้ำมันอย่างต่อเนื่อง
• ตลาดจับตาทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปีนี้ โดยประธานเฟด กล่าวในการประชุมธนาคารกลางยุโรปว่า มาตรการกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะส่งผลกระทบมากขึ้นในระยะใกล้นี้ ส่งผลให้เฟดยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 4.25 %–4.50% โดยการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจเป็นหลัก ทั้งนี้ การประชุมนโยบายการเงิน (FOMC) ครั้งถัดไปจะมีขึ้นในวันที่ 30 ก.ค. 68 โดยล่าสุด ตลาดคาดเฟดจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือน ก.ย. และ ต.ค. 68 ตามลำดับ
• อย่างไรก็ดี ตลาดคาดอุปสงค์น้ำมันในจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้นหลังไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอล (Caixin/S&P Global) เผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีนปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 50.4 ในเดือนมิ.ย.68 บ่งชี้ถึงการขยายตัวภาคการผลิตของจีนหลังได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของยอดสั่งซื้อใหม่
• ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดุลงบประมาณธนาคารกลางสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 68 และดัชนีแนวโน้มการจ้างงานจากสถาบัน CB เดือน มิ.ย. 68 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือน มิ.ย. 68 และดัชนีผู้ผลิต เดือน มิ.ย. 68 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดัชนียอดขายปลีก เดือน พ.ค. 68 และดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนจาก Sentix เดือน ก.ค. 68
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 มิ.ย. – ก.ค. 68)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 66.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในเดือน เม.ย.68 ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 13.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 13.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะเดียวกัน ตลาดคลายกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบ ภายหลังอิสราเอลและอิหร่านสามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิง ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านสงครามที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ถูกถอนออกจากตลาดอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่าอิสราเอลได้ยอมรับข้อตกลงหยุดยิงครั้งใหม่ในฉนวนกาซาเป็นระยะเวลา 60 วัน อย่างไรก็ดี ยังคงต้องจับตาหลังประธานาธิบดีอิหร่านได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านโดยรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ก่อนให้ระงับความร่วมมือกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ทั้งนี้ IAEA จะต้องได้รับการอนุมัติจากสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่านก่อนเข้าตรวจสอบโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยผู้อำนวยการ IAEA กล่าวว่าอิหร่านน่าจะกลับมาเสริมสมรรถนะยูเรเนียมได้ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า
ด้านสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 27 มิ.ย.68 ปรับเพิ่มขึ้น 3.845 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 419 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 3.5 ล้านบาร์เรล