‘NIA’ เร่งพัฒนาสตาร์ทอัพสาขาการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ
NIA จัดกิจกรรมนำเสนอผลงาน “โครงการบ่มเพาะและเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้นสาขาการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech Acceleration Program 2024)” เน้นการพัฒนาสตาร์ทอัพที่สาขาการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศ สนับสนุนเป้าหมายในการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2065
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ปัจจุบันทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคโนโลยีการหมุนเวียนทรัพยากร (Circular economy) การจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) การวิเคราะห์ข้อมูล (Data analytics) และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ล้วนมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้ถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก HolonIQ: The World’s Leading Market Intelligence Platform รายงานเมื่อ มกราคม 2023 ว่า Climate Tech Startup เติบโตสู่ระดับยูนิคอร์นถึง 80 บริษัท และการลงทุนในสาขานี้มีมูลค่ารวมสูงกว่า 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงถึงการเติบโตที่น่าจับตามองและสะท้อนถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมในระดับโลก
โดยที่ผ่านมา NIA มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อบ่มเพาะและเร่งสร้างสตาร์ทอัพในสาขาการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นปัญหาเร่งด่วนของโลก
ดังนั้นการสนับสนุนให้สตาร์ทอัพสามารถพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ครอบคลุมการเชื่อมโยงนวัตกรรมของสตาร์ทอัพกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเร่งพัฒนาขีดความสามารถรวมถึงการวางกลยุทธ์การขยายตลาด และการเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาระดมทุนจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ”
สำหรับโครงการ Climate Tech Acceleration Program 2024 มีสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 5 ทีม ประกอบด้วย 1) T-Smart Solution: ระบบการจัดการและควบคุมพลังงานอัจฉริยะในอาคารและโรงงานโดยใช้แพลตฟอร์ม AIoT เพื่อช่วยประหยัดพลังงานแบบการันตีและลดการปล่อยคาร์บอน เป็นผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรม สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารได้อย่างมีมาตรฐานและประสิทธิภาพสูงสุด
2) Alive Loop: ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้จากแหล่งทรัพยากรหมุนเวียน ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งไมโครพลาสติก
3) Nano Coating Tech: สตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยีที่มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ล้ำสมัยที่มีคุณสมบัติในการปกป้องและยืดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ ผ่านการใช้เทคโนโลยีการเคลือบนาโนซิลิกา
4) CERO: แพลตฟอร์มที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เริ่มต้นจากการเข้าใจผลกระทบของการใช้ชีวิตประจำวันต่อสิ่งแวดล้อม ติดตามและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายๆ เปลี่ยนการรักษ์โลกให้กลายเป็นเรื่องสนุก
และ 5) Top Engineering: โซลูชั่นวิเคราะห์ข้อมูลภาคพื้นดินในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยระบบอากาศยานไร้คนขับ (UAV) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของพื้นที่อย่างแม่นยำสำหรับงานทางด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ
ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า สตาร์ทอัพทุกทีมได้รับผ่านการพัฒนาเพื่อขีดความสามารถแบบเฉพาะเจาะจง โดยได้รับคำแนะนำและเชื่อมต่อกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมและนักลงทุนตลอดระยะเวลาของโครงการเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การสนับสนุนสตาร์ทอัพในสาขาการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศให้เติบโตถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของประเทศไทยในการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่โลกกำลังเผชิญอยู่ การพัฒนาสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมที่แข็งแกร่งให้สามารถเติบโตได้ทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่ประเทศไทยได้ตั้งไว้ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลกอีกด้วย
สำหรับการจัดกิจกรรมนำเสนอผลงาน “โครงการบ่มเพาะและเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้นสาขาการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech Acceleration Program 2024)” นี้ได้ถูกจัดงานเป็น Carbon Neutral Event ที่มีการประเมินและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดงาน ผ่าน CERO Platform ที่เป็นสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนและเข้าร่วมโครงการของ NIA