พพ. ยันเปิดแอร์ 27 องศา + เปิดพัดลม ประหยัดไฟได้จริง

พพ. แจงกรณีผู้ใช้ TiktoK โพสต์ เปิดแอร์ 27 องศาและเปิดพัดลมแล้วค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ไม่สมเหตุสมผลและขาดข้อมูลตัวแปรอื่นๆ ยันการเปิดแอร์ที่ 27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลม ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้ามากกว่าเปิดแอร์ที่ 25 องศาเซลเซียส พร้อมแนะวิธีเช็คตัวแปรทำค่าไฟแพง

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าวอาจเกิดจากหลายปัจจัยซึ่งไม่มีข้อมูลประกอบเพียงพอต่อการวิเคราะห์ว่าปริมาณไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าใด พฤติกรรมการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ากับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร หากพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าไม่เปลี่ยนแปลงสามารถวิเคราะห์เป็นค่าคงที่ และตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงไปเกิดจากการปรับตั้งอุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียสแล้วเปิดพัดลมช่วย จึงจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือลดลง

กรณีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าไม่เปลี่ยนแปลง การปรับตั้งอุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส ยังคงมีตัวแปรอื่นๆ ที่ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ อาทิ สภาพอากาศที่ร้อนจัดกว่าเดือนก่อนๆ โดยมีอุณหภูมิภายนอกสูง การทำงานของเครื่องปรับอากาศก็จะใช้กำลังไฟฟ้าในการทำงานมากขึ้น หรือจากสาเหตุเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำงานแบบอัตโนมัติเกิดความบกพร่องจนทำงานตลอดเวลา ส่วนในกรณีการเปิดพัดลมพร้อมเปิดเครื่องปรับอากาศแล้วค่าไฟเพิ่มขึ้น โดยทั่วไปบ้านพักจะใช้พัดลมขนาด 16 นิ้ว เมื่อเปิดความเร็วสูงสุดเบอร์ 3 จะใช้กำลังไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 80 วัตต์ และหากเปิดตลอดเวลาทั้งเดือนจะใช้พลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 80/1000 x 24 x 30 =57.60 หน่วย/เดือน/ตัว ซึ่งถ้าเปิดพัดลม 3 ตัว จะใช้ไฟฟ้า 172.80 หน่วย/เดือน ค่าไฟฟ้าประมาณ 5 บาท/หน่วย เป็นเงินค่าไฟฟ้าที่เปิดพัดลม 3 ตัว เท่ากับ 864 บาท

ดังนั้นกรณีการกล่าวอ้างว่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 1,000หน่วย/เดือน เป็น 1,200 หน่วย/เดือน จึงเป็นการกล่าวไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากการใช้งานจริงอาจไม่ได้เปิดพัดลมตลอดเวลาโดยไม่ปิดพัก และหากเปิดไว้จริงปริมาณการใช้ไฟฟ้าไม่สามารถเพิ่มได้เป็นจำนวน 200หน่วย/เดือน ตามที่อ้าง

ตามหลักวิชาการและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ การเปิดพัดลมช่วยหมุนเวียนอากาศพร้อมการเปิดเครื่องปรับอากาศโดยตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 27 องศาเซลเซียส จะช่วยลดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ลงได้ประมาณ 10-30% ขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อมอื่นด้วย เช่น อุณหภูมิแวดล้อม ณ เวลาที่เปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศ , การล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ ฯลฯ เป็นต้น โดยสรุปการกล่าวอ้างว่า ทฤษฎีเปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียส แล้วเปิดพัดลม ค่าไฟเพิ่มขึ้นจาก 1,000 หน่วย/เดือน เป็น 1,200 หน่วย/เดือน

จากสาเหตุเปิดพัดลม 3 ตัว เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่มีข้อมูลประกอบอื่นๆ เพียงพอในการพิสูจน์เป็นข้อเท็จจริงได้ว่าค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเกิดจากสาเหตุใด สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ให้ข้อมูลว่า “ที่ค่าไฟของสาวคนดังกล่าวเกิดเพิ่มขึ้น อาจจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ภายในบ้าน แต่จากการวัดผลพบว่าการเปิดแอร์ 27 องศาช่วยลดค่าไฟได้จริง ประมาณ 20% – 50% เลยทีเดียว

ประเด็นสำคัญที่ต้องคิดคือ คลิปการทดลองดังกล่าว ไม่มีรายละเอียดใดๆ เลยว่าที่ทำการทดลองไปหนึ่งเดือนนั้น ได้ควบคุมปัจจัยอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะจากเครื่องแอร์ พัดลม รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ในบ้าน ให้เหมือนกันตลอดทั้งสองเดือนที่นำมาเทียบกัน เมื่อย้อนกลับมาดูที่คลิปติ๊กต๊อก ที่บอกว่าการเปิดวิธีเปิดแอร์ ทำให้ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 200 หน่วย ซึ่งขึ้นสูงกว่าเดิมมากถึง 20% จากเดิม .. ก็น่าสงสัยมาก ว่าจริงๆ แล้ว ได้มีการใช้งานแอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ หนักขึ้นกว่าเดิม ด้วยหรือเปล่า ถึงได้มีหน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นขนาดนั้นครับ

โดยสรุป การทดลองในคลิปติ๊กต๊อกที่แชร์กันนั้น ยังไม่ค่อยน่าเชื่อถือ เพราะไม่มีข้อมูลเรื่องการควบคุมตัวแปรต่างๆ และผมยังเชื่อว่า การเปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลมเป่าตัว ช่วยทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ มากกว่าการเปิดแอร์ 25 องศา (โดยเฉพาะถ้ายิ่งเป็นแอร์ Inverter ยิ่งประหยัดขึ้นไปอีก) ไม่น่าจะทำให้กินไฟขึ้นมาก อย่างในคลิปดังกล่าวครับ” รศ.ดร.เจษฎา กล่าว (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/share/p/6D6G1xPsibWs1NDJ/ )

นายวัฒนพงษ์ และ รศ.ดร.เจษฎา ยังได้แนะนำประชาชนถึงการใช้เครื่องปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน อาทิ การปรับแอร์ที่ 27 องศา พร้อมเปิดพัดลม , การล้างแอร์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง , เครื่องปรับอากาศแบบ Inverter จะช่วยประหยัดไฟได้มากกว่า และหากต้องการลดค่าไฟ ก็ให้ลดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆที่ไม่จำเป็นควบคู่ไปด้วย และปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้จริง.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password