‘ไทยออยล์’ คาด ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลัง OPEC+ คาดขยายเวลาลดกำลังการผลิตขณะที่ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงไม่แน่นอน

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์ ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 79-89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (27 – 31 พ.ค. 67)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตลาดจับตาการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสในสัปดาห์นี้ ที่มีแนวโน้มขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิตไปจนถึงสิ้นไตรมาส 3/67 ขณะที่ความไม่สงบในตะวันออกกลางยังมีความไม่แน่นอน หลังประเทศในยุโรปประกาศรับรองฐานะความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ให้มีฐานะเป็นรัฐเอกราช อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันและเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน หลังตลาดคาด Fed ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

ตลาดจับตาการประชุมกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 1 มิ.ย. 67 ณ กรุงเวียนนา โดยรอยเตอร์เผยว่ากลุ่มโอเปกพลัสมีแนวโน้มขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิต 2.2 ล้านบาร์เรลไปจนถึงสิ้นไตรมาส 3/67 จากปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในไตรมาส 2/67 ซึ่งในปัจจุบันการผลิตน้ำมันดิบเดือน เม.ย. 67 ของซาอุดิอารเบียอยู่ที่ระดับ 8.99 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าโควต้าที่ได้รับอยู่ที่ระดับ 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ผลิตอยู่ที่ระดับ 2.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าโควต้าที่ได้รับอยู่ที่ระดับ 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่การส่งออกของโอมานเดือน เม.ย.67 ลดลง 6.4% จากเดือน มี.ค.67 มาอยู่ที่ระดับเดียวกับโควตาการผลิตที่ 0.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับนโยบายของกลุ่มในการลดการผลิตเพื่อรัษาสมดุลตลาดน้ำมัน

ความไม่สงบในตะวันออกกลางยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง หลังล่าสุดประเทศในยุโรปได้แก่ นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ และสเปน ประกาศรับรองฐานะความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ให้มีฐานะเป็นรัฐเอกราชตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 67 เป็นต้นไป โดยการประกาศครั้งนี้เป็นการแสดงความสนับสนุนของฝ่ายสายกลาง อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ ซึ่งถือเป็นการกดดันประเทศอิสราเอลอย่างมาก ทั้งนี้สถานการณ์ความตึงเครียดที่ดำเนินอยู่จะยังคงไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุปทานน้ำมันดิบ แต่ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบที่อาจขยายตัวเพิ่มเติมหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยยังคงไม่แน่นอน โดยล่าสุดผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ นาย Christopher Waller มองว่าโอกาสในการปรับลดอาจจะชะลอออกไปเป็น เดือน ก.ย. 67 นี้ เนื่องจากต้องการรอดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อให้มีแนวโน้มลดลงสู่เป้าหมาย 2% มากขึ้น ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภค ในเดือน เม.ย. 67 อยู่ที่ 3.4% ซึ่งยังคงสูงกว่าเป้าหมายดังกล่าว ขณะที่ Goldman Sach คาด FED อาจจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเปราะบาง

บริษัทพลังงาน IIR คาดความต้องการนำน้ำมันเข้ากลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 24 พ.ค.67 ปรับลดลง 0.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 0.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะลดลงไปอยู่ที่ 0.09 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 31 พ.ค.67 จากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนและกะทันหัน ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบอินเดียเดือน เม.ย. 67 ลดลง 6.5% จากมี.ค. 67 มาอยู่ที่ระดับ 4.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่สัดส่วนการนำเข้าจากรัสเซียเพิ่มขึ้น 8.2% มาอยู่ที่ 38% ของการนำเข้าทั้งหมด

ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 67 ตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 1/67 อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 67 และดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน เดือน เม.ย. 67 ตัวเลขที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 67 และดัชนีราคาผู้บริโภค เดือน พ.ค. 67 และตัวเลขที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 67

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 – 24 พ.ค. 67)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 77.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 1.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 82.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 82.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงต่อไป ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะแสดงสัญญาณการชะลอตัวลงก็ตาม

นอกจากนี้ Joint Organizations Data Initiative (JODI) มีการเปิดเผยข้อมูลการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย ปรับเพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. อยู่ที่ระดับ 6.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันดิบแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน นอกจากนี้ ตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 17 พ.ค. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล แตะระดับที่ 458.8 ล้านบาร์เรล โดยปรับขึ้นสวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 2.5 ล้านบาร์เรล

อย่างไรก็ดี การเสียชีวิตของนายอิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่าน จากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลต่อความไม่สงบในตะวันออกกลางที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น แม้จะไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่าอิสราเอลมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password