BPP เผยแผนธุรกิจสู่ทศวรรษ 2030 ขยายพอร์ตธุรกิจ ลดปล่อย CO2

BPP ประกาศแผนการเติบโตทางธุรกิจของปีนี้จนถึงทศวรรษ 2030 เน้นการปรับพอร์ตโฟลิโอให้ครอบคลุมมากไปกว่าการขยายกำลังผลิตไฟฟ้า สู่การเป็น บริษัทผู้ผลิตพลังงานที่ยั่งยืน ยกระดับการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่การส่งมอบพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า ได้กำหนดแผนการเติบโตทางธุรกิจจากปัจจุบันสู่ทศวรรษ 2030 หรือจนถึงปี 2573 ที่จะขยายพอร์ตธุรกิจที่ไม่จำกัดเฉพาะภาคการผลิตไฟฟ้าอาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน (Energy Infrastructure) โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS)

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงาน และการขยายโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น โดยจะเน้นการดำเนินงานใน 4 ด้าน ประกอบด้วย

ขยายการเติบโตด้านพลังงานไฟฟ้าคุณภาพผ่านโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ (Growth in Quality Megawatts CCGT) โดยเน้นตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกา จากปัจจุบันที่ BPP มีโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติอยู่แล้ว 2 แห่ง คือโรงไฟฟ้า Temple I และโรงไฟฟ้า Temple II ในรัฐเท็กซัส โดยโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ CCGT ถือเป็นสินทรัพย์ที่ส่งมอบพลังงานไฟฟ้าคุณภาพได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากไม่เพียงสามารถสร้างกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอให้แก่บริษัทฯ แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยเทคโนโลยี CCGT ที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE)

รักษาสมดุลของพอร์ตธุรกิจที่อยู่ในรูปแบบสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) และตลาดไฟฟ้าเสรี (Merchant Market) เพื่อนำข้อได้เปรียบของรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าแต่ละประเภทมาก่อให้เกิดโอกาสในการสร้างรายได้สูงสุดจากการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โดยสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมั่นคงจากรูปแบบสัญญา PPA และสร้างโอกาสการทำผลกำไรสูงจากรูปแบบตลาดไฟฟ้าเสรี

ทั้งนี้ BPP มีประสบการณ์การทำธุรกิจตลาดไฟฟ้าเสรี ERCOT (Electric Reliability Council of Texas) ในรัฐเท็กซัส เป็นอย่างดี และพร้อมแสวงหาโอกาสในตลาดไฟฟ้าเสรีอื่น ๆ อีกทั้งกำลังพัฒนาธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องในตลาดไฟฟ้าเสรี ทั้งธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Power Trading) และธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้า (Power Retail) เป็นการต่อยอดจากธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ขยายการลงทุนในโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) โดยในปี 2566 ได้ลงทุนในโครงการ Cotton Cove ซึ่งนับเป็นโครงการ CCUS แห่งแรกของ BPP ที่คาดจะสามารถเริ่มดำเนินการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ และคาดอัตรากักเก็บคาร์บอนเฉลี่ย 45,000 เมตริกตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีในระยะเริ่มแรก นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการศึกษาอีกหลายโครงการ

ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Energy Infrastructure and BESS) มองหาโอกาสลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน อาทิ ระบบสายส่งไฟฟ้า (Electricity Transmission System) โดยมุ่งเน้นโครงการที่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันทีและโครงการที่มีศักยภาพในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งในอนาคต และการลงทุนในโครงการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างในสินทรัพย์ที่มีอยู่ของ BPP ได้ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้จะช่วยเสริมความมั่นคงในการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่ระบบนิเวศการใช้พลังงานที่ยั่งยืน

นายอิศรา กล่าวเสริม “เรายังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG เพื่อสร้างคุณค่าแก่สังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม นอกจากนี้ อีกสิ่งสำคัญคือพนักงานของเราหรือ “คน BPP” ที่จะร่วมขับเคลื่อนบริษัทฯ ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง สอดคล้องกับทิศทางของพลังงานไฟฟ้าและพลังงานที่เกี่ยวเนื่องภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ผ่านการต่อยอดทักษะความรู้ และความชำนาญให้เข้ากับแผนงานในอนาคต พร้อมการพัฒนาศักยภาพต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password