OR ปรับทิศทางธุรกิจ สู่ Net Zero

OR เร่งเครื่องสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด ชู 3 กลยุทธ ปรับบทบาทการเป็นผู้บุกเบิกสู่การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวในงานเสวนาในหัวข้อ “Energy Transition ว่า OR ได้ปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ OR ให้ความสำคัญมาโดยตลอด และชี้ให้เห็นถึงบทบาทของ OR ในการเป็นผู้บุกเบิกสู่การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำผ่านทาง platform ต่างๆ ของ OR ซึ่งครอบคลุมทั้งในกลุ่มธุรกิจ Mobility และกลุ่มธุรกิจ Lifestyle เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2030 และ Net Zero ปี 2050 ผ่านกลยุทธ์ 3 ด้าน ประกอบด้วย

การบุกเบิกด้านพลังงานแห่งอนาคต เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านของการใช้พลังงาน (Pioneering the low carbon shift : OR’s Mobility Solution) ไม่ว่าจะเป็นการหนุนการใช้พลังงานสะอาดด้วยการติดตั้งเครื่องชาร์จ EV Station PluZ ครอบคลุมเส้นทางหลัก 77 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมตั้งเป้าขยายหัวชาร์จให้ครบ 7,000 หัวชาร์จ ในปีพ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) นอกจากนี้ ยังเสริมความแข็งแกร่งด้านพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ด้วยการเปิดสถานีต้นแบบเติมไฮโดรเจนสาหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) แห่งแรกของประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด เพื่อขยายผลการขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงยังได้ร่วมกับการบินไทยทดลองนำร่องใช้งานน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (SAF)

การพัฒนา Platform แห่งอนาคต เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและการใช้ชีวิตที่หลากหลาย (Propelling Seamless Energy Transition : OR’s network of the future) ด้วยการเป็นผู้บุกเบิกการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านแพลตฟอร์มแห่งอนาคต (Future Platform) โดย OR ได้เปิด พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 สถานีบริการต้นแบบในอนาคต ซึ่งถือเป็นต้นแบบ “Green Station” โดยใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด (Renewable Energy) 100 % ผ่านการใช้พลังงานจาก Solar Rooftop เพื่อใช้ภายในสถานีบริการและร้านค้าที่ OR ดำเนินการ พร้อมทั้งได้ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานผ่านแบตเตอรี่ (G-Box) จากกลุ่มบริษัทในเครือ NUOVO PLUS เพื่อจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการซื้อพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการใช้เอกสารสิทธิ์เพื่อยืนยันการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ REC (Renewable Energy Certificate) รวมทั้งอยู่ระหว่างการพัฒนาการนำเทคโนโลยี AI-CCTV มาช่วยคำนวณคาร์บอนของรถที่เข้า-ออก ในสถานีบริการเพื่อร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอน

การผลักดันให้ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจสู่ความเป็น Green ตลอดทั้งระบบนิเวศน์ของ OR (Promoting Green value Chain : OR’s Ecosystem) ผ่านโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเมล็ดกาแฟแบบยั่งยืน (Green Sourcing) ซึ่งประกอบไปด้วย การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ส่งเสริมการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน โดยปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรในรูปแบบการปลูกเชิงเดี่ยว สู่การสร้างป่าเชิงนิเวศน์ในพื้นที่ปลูกกาแฟ และการรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรโดยตรง โดยล่าสุด OR ได้เปิดจุดรับซื้อและโรงแปรรูปกาแฟคาเฟ่ อเมซอน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาอะราบิกาจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรโดยตรงในราคาที่เป็นธรรม นอกจากนี้ OR ยังบุกเบิกโครงการด้าน Green Logistics ด้วยการนำร่องใช้รถไฟฟ้าขนาดใหญ่ขนส่งเมล็ดกาแฟดิบเส้นทางระยะไกลรายแรกของไทย ตลอดจนผลักดันการปรับรูปแบบการขนส่งผลิตภัณฑ์ เพื่อมุ่งเน้นการลดคาร์บอน โดยการขนส่งน้ำมันผ่านทางท่อมากขึ้น อีกทั้งยังมุ่งเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ในการปฏิบัติงาน (Green Operation) รวมถึงการปรับให้ทั้ง PTT Station หรือ Café Amazon เป็น Green Outlet ที่ใช้พลังงานสะอาด และการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในร้าน Café Amazon

นอกจากนี้ OR ยังได้ดำเนินโครงการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน โดยได้ร่วมกับหลากหลายหน่วยงานในการส่งเสริมการปลูกและรับซื้อกาแฟจากเกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายเมล็ดกาแฟที่มั่นคง มีตลาดที่แน่นอน ในระบบราคาที่เป็นธรรม (Fair Trade) ควบคู่กับการพัฒนาความรู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2558-2566 OR ได้สนับสนุนเกษตรกรด้วยการเป็นตลาดรับซื้อกาแฟสารจากเกษตรกรไทยรวมแล้วกว่า 6,109 ตัน (6,109,000 กิโลกรัม) หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1,100 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายว่าภายในปี พ.ศ. 2570 จะสามารถขยายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็นแปลงปลูกกาแฟและไม้ร่มเงารวมทั้งสิ้น 4,600 ไร่ ส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ 1,800 ครัวเรือน อย่างยั่งยืน และเป็นตลาดรับซื้อในระบบ Fair trade สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรกว่า 200 ล้านบาท/ปี อีกทั้งยังมีแนวคิดในการพัฒนาอุทยานคาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon Park) บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ ณ ตำบลกล้วยแพะ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คาเฟ่ อเมซอน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (ecosystem) ของคาเฟ่ อเมซอนให้ยั่งยืน

OR มุ่งตอบโจทย์วิถีแห่งอนาคต ผ่านแนวทาง SDG ในแบบฉบับของ OR ที่คำนึงถึงมิติสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมควบคู่การเติบโตทางธุรกิจ ด้วยแนวคิดการสร้างโอกาสให้คนตัวเล็กเพื่อยกระดับสังคมชุมชน (S-Small) สร้างการเติบโตผ่านแพลตฟอร์มของ OR (D-Diversified) ตลอดจนการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (G-Green) ซึ่ง OR ได้นำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริง แบบ In Action ตั้งแต่กลยุทธ์ แผนปฏิบัติการและเป้าหมายธุรกิจจนเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อก้าวที่มั่นคงสู่เป้าหมายการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในปี 2030 (OR 2030 Goals) ที่ครอบคลุมทั้งสังคมชุมชน สิ่งแวดล้อม และผลการดำเนินการที่ดี อย่างยั่งยืนต่อไป นายดิษทัต กล่าว

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password