“พิมพ์ภัทรา” เยือนญี่ปุ่น กระชับความร่วมมือ METI ชวนลงทุนอุตฯฮาลาล

“พิมพ์ภัทรา” เยือนญี่ปุ่น กระชับความร่วมมือ METI แลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน มุ่งพัฒนา 4 ประเด็นหลัก พร้อมถกองค์กรพันธมิตร ชักจูงลงทุนอุตสาหกรรมฮาลาลในไทย คาดบูมเศรษฐกิจกว่า 1 หมื่นล้านบาท

เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำทีมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น ต่อยอดความร่วมมือแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน (Cooperation Framework) กับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (METI) พร้อมเข้าร่วมประชุมหารือกับองค์กรด้านการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานฮาลาลของประเทศญี่ปุ่น (JAHADEP) เพื่อชักจูงการลงทุนอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศไทย

นางสาวพิมพ์ภัทรา เผยว่า การเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ นายไซโตะ เคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม เพื่อหารือแนวทางการต่อยอดความร่วมมือ พร้อมแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน ฉบับใหม่ระหว่างกัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย

1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อรองรับการขยายตัวในภาคการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 2) การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งรวมทั้งในระหว่างกระบวนการผลิตและในนิคมอุตสาหกรรม

3) การเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการส่งเสริมมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลดปริมาณของเสียหรือชิ้นส่วนจากยานยนต์ (End-of –Life Vehicle)

4) การพัฒนาพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์สมัยใหม่แห่งภูมิภาค

พร้อมกันนี้ ยังได้หารือกับ องค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) เพื่อเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ไทย – ญี่ปุ่น รวมทั้งยกระดับการบ่มเพาะ พัฒนาสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก การแพทย์ สิ่งแวดล้อม และอวกาศ

นอกจากนี้ ยังได้หารือกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (NEDO) โดยร่วมกันวางกรอบแนวทางความร่วมมือไว้ 4 กิจกรรม คือ

1) โครงการการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 2) โครงการพัฒนารถบัส รถบรรทุก และรถฟอล์คลิฟต์ ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมตามนิคมอุตสาหกรรม 3) โครงการ CCUS หรือการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ 4) โครงการรีไซเคิลมอเตอร์รถยนต์ไฟฟ้า

และองค์กรด้านการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานฮาลาลของประเทศญี่ปุ่น (JAHADEP) เพื่อการขยายความร่วมมือกับอุตสาหกรรมฮาลาลของญี่ปุ่นให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยและใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบของไทย เพื่อเป็นฐานการผลิตและส่งออกอาหารญี่ปุ่นฮาลาลไปสู่ตลาดที่มีศักยภาพ ตามแนวคิดครัวไทยสู่ครัวโลก คาดว่าจะมีเอกชนสนใจมาลงทุนในประเทศไม่ต่ำกว่า 800 ราย และจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เน้นให้อุตสาหกรรมปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ เช่น Robotic, IoT, Automation เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการจัดการ รวมทั้งการยกระดับกระบวนการผลิตทั้งระบบสู่แนวทางอุตสาหกรรมสีเขียว ทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำกลับมาใช้ใหม่ และการพัฒนาพลังงานทางเลือกสำหรับยานยนต์สมัยใหม่ การรีไซเคิล – อัพไซเคิล วัสดุต่าง ๆ อย่างครบวงจร โดยเฉพาะซากยานยนต์ที่มีเพิ่มขึ้นโดยตลอด ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนและเปรียบได้กับบัตรผ่านทางสู่เวทีโลกในอนาคต

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password