อุตฯ- กลาโหม จับมือ ส่งเสริมอุตฯ ป้องกันประเทศ ลดนำเข้า

กระทรวงอุตสาหกรรม-กระทรวงกลาโหม จับมือเร่งผลักดันส่งเสริมอุตฯ ป้องกันประเทศหวังลดการนำเข้า ขยายการส่งออก สร้างรายได้ให้กับประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตนได้เข้าพบและหารือกับนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ว่า ทั้งสองกระทรวงเห็นร่วมกันถึงความสำคัญและร่วมกันผลักดันเพื่อให้เกิดการพัฒนา รวมถึงการลดข้อจำกัดและกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้ตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้เช่นเดียวกันทั้งในด้านความมั่นคงทางกองทัพ การลดการนำเข้าและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยได้มี การดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

“จากการหารือดังกล่าว ทั้ง 2 กระทรวง มีความคิดเห็นที่จะร่วมกันให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยกระทรวงกลาโหมเห็นด้วยในการสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการในประเทศที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน เพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการ และสร้างห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงให้มีพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัย โดยทั้งสองฝ่ายจะมีการหารือในรายละเอียดและกำหนดแนวทางปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะส่งแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้กระทรวงกลาโหมใช้ประกอบการพิจารณาของคณะทำงานเพื่อศึกษาและพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศต่อไป” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม เห็นโอกาสในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งเป็น New S Curve ที่ 12 ให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ และลดการนำเข้า โดยได้กำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพเบื้องต้นนำร่อง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มยานพาหนะรบ 2. กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือ 3. กลุ่มอากาศยานไร้คนขับ และ 4. กลุ่มอาวุธและกระสุนปืนสำหรับการป้องกันประเทศและกีฬา

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถแข่งขันได้เนื่องจากปัญหาต้นทุนการผลิต เป็นผลมาจากอากรวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่นำเข้าสูงกว่าอากรยุทธภัณฑ์ที่นำเข้าเป็นสินค้าสำเร็จรูป ทำให้ยุทธภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศมีราคาสูง ส่งผลให้การใช้ในประเทศจากกองทัพยังมีไม่มาก รวมทั้งกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค เช่น ขั้นตอนการดำเนินการ G2G ที่ใช้เวลานาน ทำให้สูญเสียโอกาสในการส่งออก

“แนวทางแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างภาษี ในเบื้องต้นทางกระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนใช้กลไกการจัดตั้งโรงงานในเขตปลอดอากร (Freezone) ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วน เพื่อนำมาประกอบหรือผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในกรณีที่ส่งออก ขณะเดียวกันสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย หากเข้าตามเงื่อนไขที่กำหนด คือ Local Content มากกว่าร้อยละ 40 และมีกระบวนการผลิตที่มีสาระสำคัญตามที่ สศอ. กำหนด จะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตที่ลดลง และสามารถขายได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ นอกจากจะพิจารณาในแง่การลดอุปสรรคในการแข่งขันแล้ว การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยังก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง เช่น การพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ นอกจากจะให้เกิดประโยชน์ทางการทหารแล้ว ยังสามารถพัฒนาให้เป็น Dual Used ได้ เช่น การพัฒนาอากาศยานไร้คนขับใช้ในการแพทย์เพื่อขนส่งผู้ป่วยหรือใช้ในการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศขยายวงกว้างขึ้น

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password