ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย จากความตึงเครียดของสงครามตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อ ขณะที่ตลาดจับตาท่าทีการประชุม FED ในช่วงกลางสัปดาห์นี้

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 73-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 78-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (29 ม.ค. 67 – 2 ก.พ. 67) โดยราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการประชุม OPEC+ ที่คาดว่าจะน่าจะยังคงลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น หลังได้รับแรงหนุนจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐฯ และยูโรโซน (PMI) ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางของจีน (PBOC) มีแผนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบธนาคารของจีน

อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาการประชุม FED ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30-31 ม.ค. 67 ที่อาจชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปเป็นช่วงกลางปี 67 และสภาพอากาศหนาวเย็นฉับพลัน (Cold Snap) ในรัฐนอร์ทดาโคตาที่คาดว่าจะผ่านช่วงที่หนาวเย็นที่สุดไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาน้ำมัน

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

ตลาดยังจับตาสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง หลังอิสราเอลโจมตีเมือง Khan Younis ทางใต้ของฉนวนกาซาซึ่งมีผู้อพยพอาศัยอยู่กว่า 800 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 9 ราย และผู้บาดเจ็บกว่า 70 ราย และมีแผนขยายการโจมตีบริเวณพื้นที่ลงมาทางใต้ของฉนวนกาซา พร้อมประกาศให้ประชาชนในพื้นที่จำนวนกว่า 5 แสนรายเร่งอพยพ นอกจากนี้ สหรัฐฯ และอังกฤษได้บุกโจมตีกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนอีกครั้ง หลังจากกลุ่มฮูตีได้ทำการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง และสร้างความเสียหายต่อการค้าโลก ส่งผลให้ตลาดยังคงกังวลต่อสงครามความขัดแย้งที่ยังคงยึดเยื้อมา 3 เดือน อย่างต่อเนื่อง

ตลาดจับตาการประชุมของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC+) ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นช่วงต้นเดือน ก.พ. 67 ว่าทางกลุ่มจะมีนโยบายการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมเพื่อรักษาสมดุลของตลาดน้ำมันโลกหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันนี้กลุ่มมีแผนลดการผลิตน้ำมันที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงไตรมาสที่ 1/2567

ตลาดคาดเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น หลังได้รับแรงหนุนจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐฯ (PMI) ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 52.3 เดือน ม.ค. 67 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 66 และเพิ่มขึ้นจากระดับ 50.9 ในเดือน ธ.ค. 66 สะท้อนความเชื่อมั่นและการขยายตัวของภาคธุรกิจในสหรัฐฯ ในขณะที่ S&P Global/Hamburg Commercial Bank (HCOB) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของยูโรโซนในเดือน ม.ค. 67 เพิ่มขึ้น 2.2 จุด เทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนที่แล้ว อยู่ที่ 46.6 จุด สูงสุดในรอบ 10 เดือน อย่างไรตาม ตัวเลขยังคงต่ำกว่าระดับ 50 จุด สะท้อนภาวะหดตัวเป็นเดือนที่ 19 ติดต่อกัน

ธนาคารกลางของจีน (PBOC) มีแผนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันยังคงฟื้นตัวไม่ดีนัก โดยการปรับลดอัตราเงินสำรองขั้นต่ำของธนาคาร (RRR) ลง 0.5% (50 bps) ถือเป็นการปรับลดมากที่สุดในรอบ กว่า 2 ปี มีผลวันที่ 5 ก.พ. 67 เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบธนาคารของจีนมูลค่า 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตลาดจับตาความไม่แน่นอนของนโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) หลังนักวิเคราะห์คาด FED จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 30-31 ม.ค. 67 นี้ ในขณะที่ตลาดคาดว่า FED จะปรับลดดอกเบี้ยสู่ระดับ 4.25-4.50% ภายในปี 67 โดยจะเริ่มลดครั้งแรกในเดือน มิ.ย. 67 ช้ากว่าก่อนหน้าที่คาดการณ์ไว้ในเดือน มี.ค. 67

ตลาดคลายความกังวลต่อสภาพอากาศหนาวเย็นฉับพลัน (Cold Snap) ในรัฐนอร์ทดาโคตา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันขนาดใหญ่อันดับต้นของสหรัฐฯ เนื่องจากคาดว่าจะผ่านช่วงที่หนาวเย็นที่สุดไปแล้ว และอาจส่งผลให้กำลังการผลิตกลับมาเพิ่มขึ้นได้อีกครั้ง หลังการผลิตปรับลดลงกว่า 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือมากกว่า 50% ของกำลังการผลิตในสถานการณ์ปกติ

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ อัตราการจ้างงาน ธ.ค. 66 ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการเดือน ม.ค. 67 และตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหภาพยุโรปฯ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ม.ค. 67 และ GDP ไตรมาสที่ 4/2566

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 – 26 ม.ค. 67)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 4.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 4.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 83.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 81.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดยังคงกังวลเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบในทะเลแดงที่มีแนวโน้มตึงเครียดขึ้น

เนื่องจากสหรัฐฯ และอังกฤษทำการโจมตีกลุ่มกบฏฮูติในเยเมนร่วมกันอีกครั้ง ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนมีความตึงเครียดขึ้น หลังอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ของกองทัพยูเครนได้โจมตีคลังน้ำมันของบริษัทโนวาเทค (Novatek) นอกจากนี้ตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 19 ม.ค. 67 ปรับลดลง 9.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 420.7 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงเพียง 2.1 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม รัฐนอร์ทดาโคตากลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันบางส่วนได้อีกครั้งหลังต้องปิดไปจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัด ในขณะที่การผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง Sharara ในลิเบีย (0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ได้กลับมาดำเนินการผลิตตามปกติ หลังจากที่ได้ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password