‘พิมพ์ภัทรา’ ล่องใต้ เยี่ยมชม–ให้กำลังใจ–รับฟังปัญหา ผู้ประกอบการ ฝั่งอันดามัน
“ พิมพ์ภัทรา” นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เยี่ยมชมและให้กำลังใจ พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ จาก 2 ผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ ผลักดันสู่เป้าหมายตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปตรวจราชการ และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ในพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยในวันนี้ (21 ม.ค.67) ได้นำคณะตรวจเยี่ยมผู้ประกอบกิจการโรงงานในจังหวัดชุมพร เป็นจังหวัดแรก เพื่อเยี่ยมชมและให้กำลังใจพร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรคต่างๆ จากการประกอบกิจการ
รวมทั้งข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ โดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในด้านการเพิ่มผลผลิต การดูแลสิ่งแวดล้อม การดูแลชุมชน การพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง
โดยการลงพื้นที่จังหวัดชุมพรครั้งนี้ จุดแรกได้ไปตรวจเยี่ยม บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) จังหวัดชุมพร ตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ ประกอบกิจการสกัดน้ำมันปาล์ม กลั่นและแยกไข บรรจุน้ำมันพืช ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ และผลิตปุ๋ยจากตะกอนน้ำเสีย โดยบริษัทฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มตาม Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) และมาตรฐาน ISO 9001:2015, GHPs, HACCP, HALAL และ KOSHER
ซึ่งในปี 2567 กระทรวงฯ เตรียมที่จะส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันครบวงจรอย่างยั่งยืน ตามแนวนโยบาย MIND อุตสาหกรรมวิถีใหม่ พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานประกอบการอื่นๆ ในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มมูลค่า by product จากการสกัดและแยกไขสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล (Oleochemical) สนับสนุนเงินทุนหรือขยายเวลาเรื่องการติดตั้งระบบ CEMs และระบบดักฝุ่น (ESP) ของหม้อน้ำ
จากนั้นได้เดินทางไปยังจุดที่ 2 วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ ตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง โดยวิสาหกิจชุมชนฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานสาธารณสุข อย. และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และได้เข้าร่วมโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน (OPOAI -C) ประจำปีงบประมาณ 2566 ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกอมกาแฟ มูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 23,600 บาทต่อปี
ซึ่งในปี 2567 กระทรวงฯ เตรียมที่จะเข้าไปให้การส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนฯ ในด้านต่างๆ อาทิ พัฒนากระบวนการผลิต เช่น การปรับปรุงอาคารล้าง การขยายขนาดเครื่องอบร้อน เป็นต้น หรือการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่งเสริมการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ลูกอมกาแฟ และส่งเสริมการตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์
“ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ถือได้ว่าเป็นสถานประกอบการที่มีประสิทธิภาพสูง ได้รับการยอมรับและการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดได้เป็นอย่างดี ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนตามการร้องขอของผู้ประกอบการ เพื่อให้การพัฒนาธุรกิจมุ่งไปสู่เป้าหมายที่กระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าไว้ คือ การเพิ่มผลผลิต การดูแลสิ่งแวดล้อม การดูแลชุมชน การพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง”
ขณะเดียวกันในส่วนของปัญหา อุปสรรคต่างๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ได้ร้องขอมานั้น ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิตในพื้นที่ไม่เพียงพอ ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องบางฉบับไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วยังถูกมองว่าเป็นขยะ ผู้ประกอบการขาดแหล่งเงินทุนหมุนเวียน และระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการในพื้นที่ยังไม่เพียงพอนั้น ดิฉันขอรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการให้เรียบร้อย และแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ หรือเกิดการสะดุดในระหว่างประกอบกิจการได้
ทั้งนี้ จังหวัดชุมพร มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP : Gross Provincial Product) 130,074 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 22 ของประเทศ และลำดับ 4 ของภาคใต้ รองจากจังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีรายได้ GPP (GPP Per Capital) ต่อคนมูลค่า 259,853 บาทต่อคนต่อปี อยู่ในลำดับที่ 11 ของประเทศ และลำดับที่ 1 ของภาคใต้ โดยมีภาคธุรกิจหลักๆ คือ อุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยว ร้อยละ 35.64 มูลค่า 46,362 ล้านบาท ภาคการเกษตรกรรม ร้อยละ 56.75 มูลค่า73,812 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 7.61 มูลค่า 9,899 ล้านบาท และมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วย ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ยางพารา มะพร้าว และกาแฟ เป็นต้น
“จังหวัดชุมพร เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหลายด้าน ซึ่งหากมีการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเหมาะสม จะช่วยให้จังหวัดชุมพรสามารถเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้” รัฐมนตรีฯพิมพ์ภัทรา กล่าว