ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ปรับขึ้นครั้งแรกรอบ 5 เดือน
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ระดับ 90.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 88.4 ในเดือนตุลาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เสนอรัฐปรับลดค่าไฟ ตรึงราคาน้ำมันดีเซล
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ระดับ 90.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 88.4 ในเดือนตุลาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรก ในรอบ 5 เดือน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชนโดยการปรับราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน ส่งผลให้การบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น สะท้อนจากดัชนีคำสั่งซื้อและยอดขายที่เพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มสินค้าคงทน อาทิ รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ ตู้เย็น และสินค้ากึ่งคงทน อาทิ สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง และเครื่องหนัง เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เป็นต้น รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค
ขณะเดียวกันภาคการส่งออกมีทิศทางดีขึ้น เนื่องจากอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าทยอยฟื้นตัวจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ภาคการผลิตเร่งขึ้นเพื่อรองรับคำสั่งซื้อและยอดขายที่เพิ่มขึ้นในเทศกาลช่วงปลายปี นอกจากนี้ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการปรับตัวดีขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากราคาพลังงานที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ ที่กดดันกำลังซื้อของประชาชน ตลอดจนความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,326 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนพฤศจิกายน 2566 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 43.7 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 70.5 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 80.2 ราคาน้ำมัน ร้อยละ 52.1 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 45.5 สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 40.0 ตามลำดับ
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 94.5 ในเดือนตุลาคม โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการ e-Refund และโครงการฟรีวีซ่า รวมถึงมาตรการอื่นๆ เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเนื่องจากผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังกดดันการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบต่างๆ
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1) ขอให้พิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร Ft งวดที่ 1 (มกราคม-เมษายน) ปี 2567 ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมถึงเร่งปรับโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้
2) เสนอให้ภาครัฐพิจารณาขยายเวลามาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 รวมถึงมาตรการลดราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันเบนซินลง 2.50 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม 2567 เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ประชาชนและลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ
3) ขอให้ภาครัฐเข้มงวดการตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพโดยเฉพาะสินค้าออนไลน์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมทั้งสกัดกั้นการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ