‘มูราตะ’ เลือกไทยฐานผลิตชิ้นส่วนสำคัญ สมาร์ทโฟน – ยานยนต์ไฟฟ้า

บีโอไอ เผย มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ ได้รับอนุมัติส่งเสริมลงทุนมูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท เลือกไทยฐานผลิต MLCC ชิ้นส่วนสำคัญในสมาร์ทโฟน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมระบุ ยอด 8 เดือน ญี่ปุ่นลงทุนไทยแล้วกว่า 40,554 ล้านบาท เป็นอันดับ 3 รองจากจีน และสิงคโปร์

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนของบริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลกจากประเทศญี่ปุ่น มูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท ในกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้น (Multilayer Ceramic Chip Capacitor หรือ MLCC) กำลังการผลิตกว่า 9 หมื่นล้านชิ้นต่อปี ซึ่ง MLCC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ไฟฟ้า ที่ปริมาณการใช้มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วรถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งคัน จำเป็นต้องใช้ MLCC ประมาณ 3,000 – 8,000 ชิ้น/คัน ส่วนในสมาร์ทโฟน ประมาณ 500 -1,000 ชิ้น/เครื่อง การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและสมาร์ทโฟนจึงเป็นแรงขับเคลื่อนให้ตลาด MLCC เติบโตอย่างก้าวกระโดด


สำหรับโรงงานผลิต MLCC ของมูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ถือเป็นผลิตภัณฑ์ระดับเรือธงของมูราตะที่ครองส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกกว่าร้อยละ 40 ซึ่งโรงงานแห่งนี้ ถือเป็นโรงงานนอกญี่ปุ่นแห่งที่ 3 และเป็นการขยายฐานการผลิตครั้งใหญ่จากฐานเดิมที่ประเทศจีน และสิงคโปร์ โดยจะทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 2,000 ตำแหน่ง และจะเริ่มเปิดดำเนินการในเดือนตุลาคม 2566 นี้

“นักลงทุนญี่ปุ่น ถือเป็นนักลงทุนรายสำคัญของไทยตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น และยังคงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตสมัยใหม่เพื่อรองรับกระแสความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้ กรณีมูราตะได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2531 และยังได้เลือกไทยเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคเพื่อดูแลบริษัทในเครือในภูมิภาคเอเชีย สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์ที่ดีของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีต่อประเทศไทยมาอย่างยาวนาน” นายนฤตม์กล่าว

ขณะที่สถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 8 เดือน (ม.ค. – ส.ค. 2566) ญี่ปุ่นยื่นขอส่งเสริมการลงทุน จำนวน 156 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 40,554 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password