กนอ.ตั้งบริษัทร่วมทุนบริการระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะในนิคมฯ สมาร์ท ปาร์ค
กนอ. ผนึก 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน ศึกษาความเป็นไปได้ จัดตั้งบริษัทร่วมทุนและบริษัทในเครือ กนอ. ให้บริการด้านพลังงาน รวมถึงระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park)
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการและร่วมลงทุนโครงการสาธารณูปโภคอัจฉริยะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) กับ 4 บริษัทชั้นนำ ประกอบด้วย บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอิร์ธ อิเล็คทริค ซัพพลาย จำกัด และบริษัท ทริปเปิ้ล พี เทคโนโลยี จำกัด ว่า ทั้ง 4 บริษัท เป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนด้านพลังงานและไฟฟ้า มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นคงทางพลังงานและสาธารณูปโภค เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมภายในประเทศและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
โดยจะบูรณาการการทำงานร่วมกันกับ กนอ. ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือของ MOU ฉบับนี้ในเรื่องต่างๆ ประกอบด้วย 1) ระบบพลังงานไฟฟ้ามั่นคงและพลังงานสีเขียว (Green Energy and Energy Reliable System) 2) โครงสร้างระบบข้อมูลและการสื่อสารอัจฉริยะ (Smart Data and Communication) 3) โครงข่ายระบบพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy and Microgrid Network) 4) บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชยกรรม (Retail Mixed Use Community) 5) ระบบการบริหารจัดการพลังงานภาคอุตสาหกรรม (Smart Energy Factory) และ 6) ระบบบริหารแบบรวมศูนย์ (Integrated Operation Centre)
รวมถึงการศึกษาแนวทางจัดตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนหรือบริษัทในเครือของ กนอ. (Utilities Management Company) ซึ่งภายใต้ความร่วมมือนี้เรียกว่า “UMC” เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการและให้บริการพลังงาน รวมถึงระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค และอำนวยความสะดวกในการประสานงานระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่าที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ในรูปแบบของการบริการที่ครบวงจร (One Stop Service)
“การเซ็น MOU ครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการ และร่วมลงทุนโครงการสาธารณูปโภคอัจฉริยะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เพื่อตอบโจทย์ความเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ และความต้องการของนักลงทุนทั้งด้านการใช้เทคโนโลยี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) รวมถึงอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับภารกิจหลักของ กนอ. ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม กำกับดูแล และให้บริการระบบสาธารณูปโภค สำหรับการประกอบอุตสาหกรรม โดยตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือ New S-Curve เสริมสร้างความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่ทันสมัย ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สอดรับกับแนวคิด BCG Economy ของรัฐบาล และนโยบาย MIND ของกระทรวงอุตสาหกรรม” นายวีริศ กล่าว
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บี.กริม เพาเวอร์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับความร่วมมือครั้งสำคัญ ระหว่าง กนอ. และ 3 องค์กรพันธมิตร โดยนำ ความเชี่ยวชาญและจุดแข็งของแต่ละองค์กรผนึกกำลังกันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการนำเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ New S-Curve เสริมสร้างความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ทันสมัย และพลังงานสะอาดมาใช้ในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค อาทิ การพัฒนาเพื่อให้เกิดโครงข่ายอัจฉริยะ (Smart Energy and Microgrid Network) ระบบการบริหารจัดการพลังงานภาคอุตสาหกรรม (Smart Energy Factory) ซึ่งรองรับทั้งพลังงานไฟฟ้าที่มาจากก๊าซธรรมชาติและจากพลังงานทดแทน เช่น Solar Roof, Solar Farm, Solar Floating, Energy Storage และ REC อาคารประหยัดพลังงาน เป็นต้น เพื่อผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. กล่าวว่า จากประสบการณ์การบริหารโรงไฟฟ้าที่มีความหลากหลาย ทั้งโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลัก ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง พร้อมกับโครงข่ายไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพและความยืดหยุ่นสูงในการบริหารจัดการในพื้นที่ดังกล่าว และโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานจากเชื้อเพลิง RDF ทั้งในและต่างประเทศของ GPSC ประกอบกับความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า ได้แก่ เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน และระบบการบริหารจัดการพลังงานไมโครกริด (microgrid) เราจึงมีความพร้อมในการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆ โดยการผสมผสานเทคโนโลยี และระบบปฏิบัติการดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาการให้บริการระบบโครงข่ายที่ทันสมัย ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการ และสร้างความได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ได้อย่างครบวงจร
สอดรับกับกระแสทิศทางการใช้พลังงานของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ ภายใต้แผนงานนโยบายการขับเคลื่อนของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และก้าวสู่สังคม Net Zero Emissions ซึ่งสอดรับกับทิศทางการดำเนินธุรกิจและกลยุทธ์ของ GPSC ที่มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน
นายจีระศักดิ์ ภูคันธะโสม กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท เอิร์ธ อิเล็คทริค ซัพพลาย จำกัด กล่าวว่า ในโอกาสนี้ ทางบริษัทฯ รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่จะได้นำศักยภาพ และทรัพยากรที่บริษัทมีอยู่ มาพัฒนา ต่อยอดเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่จะตอบโจทย์ความเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะของ กนอ. ต่อไป
นายสุริยะ รัตตากร กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท ทริปเปิล พี เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า การเตรียมการบริการพลังงาน และระบบสาธารณูปโภค ในมิติของนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความยั่งยืน และ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พลังงานสะอาดต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ที่ กนอ. ให้ความสำคัญเพื่อการพัฒนาที่นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน บริษัท ทริปเปิล พี เทคโนโลยี จำกัด มีความพร้อม ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์การทำงานจริง พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายข้างต้นทั้งหมด
สำหรับกรอบความร่วมมือ กนอ. จะสนับสนุนข้อมูลที่จำเป็นต่อการศึกษาและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการภายใต้บันทึกความร่วมมือฉบับนี้ ตลอดจนการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกับผู้ลงนามทุกฝ่าย ขณะที่ทั้ง 4 บริษัท จะศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค และมอบข้อมูลให้แก่ กนอ. และกลุ่มคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแนวทางรูปแบบการจัดหา ลงทุน และการให้บริการ ทั้งด้านเทคนิค การเงิน และข้อกฎหมาย ตามระยะการพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค รวมทั้งให้การสนับสนุนข้อมูลเชิงลึกและข้อเสนอแนะแก่ กนอ. เกี่ยวกับการจัดตั้ง UMC ด้วย ทั้งนี้ บันทึกความร่วมมือฉบับนี้ มีกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ลงนาม