กำลังซื้อประเทศคู่ค้าอ่อนแอ กดดัชนี MPI เดือน ส.ค. หดตัว
สศอ. เผย ดัชนี MPI เดือนสิงหาคม ปี 2566 ลดลงร้อยละ 7.53 จากการชะลอตัวของการส่งออกและกําลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ และเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า หวังนโยบายรัฐบาลใหม่จะช่วยดันอำนาจซื้อประชาชนสูงขึ้น หนุน GDP อุตฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.85 ลดลงร้อยละ 7.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 4.95 ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 58.18 และช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 60.09 เป็นผลจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกําลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลง
รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ขณะที่สภาพอากาศที่แปรปรวนจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรลดลง กดดันกําลังซื้อในส่วนภูมิภาค อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวช่วยสนันสนุนการบริโภคในประเทศ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง โดยเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.88
นอกจากนี้ การเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนกันยายน 2566 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในช่วงขาลง” จากปัจจัยภายในประเทศชะลอตัวตามการลงทุน และปริมาณนําเข้าสินค้า โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนของไทยหดตัวมากขึ้น เป็นผลจากการหดตัวของการจําหน่ายวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ และยอดจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ในประเทศที่ปรับลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม ด้านดัชนีปริมาณสินค้านําเข้าของไทยมีโอกาสฟื้นตัวระยะสั้น จากการนําเข้าก๊าซธรรมชาติที่ลดลง
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทย 3 เดือนข้างหน้ายังชะลอตัวจากการเผชิญกับภาวะต้นทุนที่สูงอย่างต่อเนื่อง ส่วนความเชื่อมั่นในภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากอุปสงค์โลกที่ชะลอลงและสินค้าคงคลังของประเทศคู่ค้าสําคัญยังอยู่ในระดับสูง และดัชนีภาคอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้า ชะลอตัวจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อการส่งออกไทย อีกทั้งผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายด้านพลังงาน เป็นต้น
สำหรับประเด็นที่น่าติดตามในช่วงนี้ ได้แก่ นโยบายของรัฐบาลใหม่ เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) การแก้ปัญหาหนี้สิน การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน การผลักดันสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น โดยจะเกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับประเทศพร้อมกัน คาดว่าจะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจจากกําลังซื้อของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นทั่วทุกพื้นที่ ส่งผลโดยรวมต่อภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมให้มีการขยายการลงทุนและการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นในภาคธุรกิจ ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนพลังงานสูง หรือ มีการใช้ไฟฟ้าจํานวนมาก เช่น กลุ่มเหล็กและโลหะพื้นฐาน กลุ่มพลาสติก กลุ่มรถจักรยานยนต์ รถปิกอัพ และยางล้อ เป็นต้น