สสว. จับมือ BOI เชื่อมธุรกิจขนาดใหญ่ช่วย SME
สสว. จับมือ BOI และ 5 หน่วยงานพันธมิตร เชื่อมธุรกิจขนาดใหญ่ช่วย SME ด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม โดย “ผู้ให้” จะได้รับการยกเว้น CIT 200% ของเงินสนับสนุน และ ช่วย SME ปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว การเข้าสู่ Global Supply Chain และ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และหน่วยงานภาคีที่มีบทบาทในการส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจฐานราก ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม ที่จะช่วยเชื่อมต่อความช่วยเหลือจากธุรกิจรายใหญ่และกลุ่มที่มีศักยภาพ รวมถึงธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไปสู่ผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มวิสาหกิจฐานรากหรือวิสาหกิจรายย่อยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
“ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการนำสิทธิประโยชน์ของ BOI เป็นเครื่องมือหลัก โดย BOI และ ก.ล.ต. จะเชิญชวนธุรกิจรายใหญ่ กิจการที่มีศักยภาพ และบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ให้ร่วมเป็น “ผู้ให้” ในการพัฒนาสังคมและชุมชนด้วยมาตรการนี้ ขณะที่หน่วยงานภาคีจะทำการกลั่นกรองกลุ่มที่เป็น “ผู้รับ” เช่น วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ซึ่งเป็น SME กลุ่มฐานราก และรวบรวมความต้องการความช่วยเหลือ เป็นข้อมูลให้ธุรกิจรายใหญ่พิจารณา เชื่อว่าแนวทางนี้ช่วยให้เกิดการจับคู่ความช่วยเหลือระหว่างผู้ให้กับผู้รับมากยิ่งขึ้น โดยผู้ให้จะได้รับการยกเว้นภาษี ขณะที่ผู้รับก็ได้รับความช่วยเหลือที่ตรงความต้องการ เกิดผลลัพธ์ในการพัฒนาสังคมและชุมชน รวมถึงระบบเศรษฐกิจฐานรากที่มี SME เป็นกลไกสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ผอ.สสว. กล่าว
สำหรับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม จะให้กับกิจการ ที่ดำเนินธุรกิจตามประเภทกิจการที่ BOI ให้การส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบัน โดยจะต้องมีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือวิสาหกิจฐานรากในมูลค่าไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท สามารถแบ่งย่อยออกเป็นกิจกรรมละไม่น้อยกว่า 5 แสนบาทต่อราย แล้วจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) ในวงเงิน 200% ของเงินสนับสนุน เป็นเวลา 3 ปี สำหรับกิจการที่ไม่เคยได้รับสิทธิ CIT ขณะที่กิจการที่ได้รับสิทธิ CIT อยู่แล้ว จะได้รับการเพิ่มวงเงินยกเว้น CIT จากเดิมเป็น 200% ของเงินสนับสนุน
โดยรูปแบบการช่วยเหลือ จะมีทั้งการสนับสนุนโดยตรงไปยังกลุ่มวิสาหกิจฐานราก และการสนับสนุนทางอ้อมผ่านสถาบันวิจัย/สถาบันการศึกษาของรัฐที่มีความร่วมมือกับกลุ่มวิสาหกิจฐานราก ซึ่งความช่วยเหลือจะมีทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ค่าเครื่องจักรอุปกรณ์ การฝึกอบรม ฯลฯ
ในเบื้องต้นมีวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ ไม่น้อยกว่า 488 กลุ่มทั่วประเทศ ที่ต้องการความช่วยเหลือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งถ้าเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะมีความต้องการ เช่น โรงงาน/เครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมการผลิต มาตรฐาน รวมถึงด้านการตลาด ส่วนการท่องเที่ยวชุมชน จะมีความต้องการ เช่น อุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการท่องเที่ยว การปรับปรุงสถานที่และภูมิทัศน์ การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาสินค้าของที่ระลึก รวมถึงการประชาสัมพันธ์และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
นอกจากนี้ สสว. ยังมีแนวทางจะสร้างความร่วมมือกับธุรกิจขนาดใหญ่ในการพัฒนาและสร้างโอกาสให้ SME ผ่านมาตรการส่งเสริม สนับสนุน เช่น การเสริมสภาพคล่องด้วย Credit Term เพื่อช่วยให้ SME ที่เป็นคู่ค้าได้รับเงินตามเกณฑ์ที่กำหนด การสนับสนุนให้ SME ปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียวและการเข้าสู่ Global Value Chain รวมทั้งการใช้ระบบ Digital Supply Chain Finance เพื่อช่วยให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น