สสว. เผย ไตรมาส 2 ปีนี้ ผู้ประกอบการ SME มีหนี้สินเพิ่มขึ้น
สสว. เผย ผลสำรวจสถานการณ์หนี้สินกิจการ SME ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 พบผู้ประกอบการถึงร้อยละ 59.7 มีภาระหนี้สินซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ที่ร้อยละ 53.4 ส่วนใหญ่กู้ยืมเงินเพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการ และ ยังคงเผชิญปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการ SME เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านหนี้สินกิจการของ SME ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 โดยสอบถามผู้ประกอบการ จำนวน 2,691 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 17-27 มิถุนายน 2566 พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 59.7 มีภาระหนี้สิน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ที่อยู่ที่ร้อยละ 53.4 โดยมีวัตถุประสงค์หลักของการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้หมุนเวียนในกิจการ
รองลงมา คือ การลงทุนในกิจการ เพื่อการซ่อมแซมสถานประกอบการ และพบว่ากลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยโดยเฉพาะธุรกิจภาคการค้าและภาคการบริการมีสัดส่วนการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนนอกระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการกู้ยืมจากเพื่อนหรือญาติพี่น้องมากที่สุด เนื่องจากแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินมีวิธีการและกระบวนการพิจารณาที่เข้มงวด
ทั้งนี้ พบว่า ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 35.6 มีภาระหนี้สินอยู่ในช่วง 50,000 ถึง 100,000 บาท ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ที่ร้อยละ 33.2 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจรายย่อย โดยมีระยะเวลาสัญญาเงินกู้ในช่วงไม่เกิน 7 ปี ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมเงินของ SME ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะ ธุรกิจรายย่อยยังแบกรับอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าธุรกิจขนาดอื่น ๆ โดยขยับขึ้นมาอยู่ในช่วงร้อยละ 9-12 จากร้อยละ6-8 ในช่วงไตรมาสก่อน
โดยสถานการณ์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ผู้ประกอบการ SME กว่าร้อยละ 55.4 ยังคงเผชิญกับปัญหาในการชำระหนี้ ด้วยเหตุที่รายได้น้อยกว่ารายจ่าย สภาพคล่องลดลงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 57.8 ยังสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดสัญญา จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว
แต่ยังพบว่าผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 42.4 เริ่มประสบปัญหาการผิดเงื่อนไขการชำระหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและขนาดย่อม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี พบว่า ปัญหาสำคัญที่ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ยังคงเผชิญ คือ ปัญหาด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจ รองลงมา คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นสถาบันการเงินซึ่งมีขั้นตอนการยื่นกู้ยุ่งยาก และสิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รองลงมา คือ ต้องการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับธุรกิจรายเล็ก และการลดขั้นตอนหรือเงื่อนไขในการยื่นขอสินเชื่อ