อีอีซี จับมือ กรมการแพทย์แผนไทย ปั้นธุรกิจสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก

อีอีซี ร่วมลงนาม MOU กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยกระดับกิจการสมุนไพรไทยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก วางเป้าเสริมองค์ความรู้ เทคโนโลยีการผลิตมาตรฐานโลก เสริมนวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร สร้างมูลค่าเพิ่มและแบรนด์สมุนไพรไทย ก่อนผลักดันสู่ตลาดโลก

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2566 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วย “การส่งเสริมธุรกิจด้านสมุนไพรไทยเพื่อการส่งออก” โดยมีนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกัน
ลงนามฯ ณ เวทีกลาง งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติและการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทยการแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ศูนย์การแสดงสินค้า อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการด้านสมุนไพรไทยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และสร้างโอกาสให้ธุรกิจพืชสมุนไพรไทยมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีส่วนในการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย อีอีซี จึงได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ว่าด้วย “การส่งเสริมธุรกิจสมุนไพรไทยเพื่อการส่งออก” กับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้เกิดการสนับสนุนกิจการสมุนไพรไทยอย่างเป็นรูปธรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่ม และสามารถก้าวไปเป็นแบรนด์สมุนไพรชั้นนำได้ในตลาดโลก

โดยภายใต้ MOU นี้ อีอีซี จะร่วมมือกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการด้านสมุนไพรไทยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างรายได้การเพิ่มมูลค่าผลิตสมุนไพรทั้งการจัดจำหน่ายในประเทศและการส่งออกนอกประเทศ ด้วยการสนับสนุนการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย โดยครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำให้มีประสิทธิภาพสูง

นอกจากนี้ จะให้การส่งเสริมสมุนไพรไทยในด้านเทคโนโลยีการผลิต มาตรฐานการผลิตที่ทันสมัย และเป็นไปตามมาตรฐานหลักเกณฑ์สากล รวมถึงการขับเคลื่อนด้านการตลาดของสมุนไพรไทย ให้ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างมีอัตลักษณ์ด้วยการสร้างแบรนด์สินค้า โดยจะมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์สมุนไพร ภายใต้ regulatory sandbox ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงการสร้างระบบนิเวศการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านสมุนไพร

“อีอีซี จะเข้าไปมีบทบาทหลักในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้เกิดการจับคู่ธุรกิจและความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยด้วยนวัตกรรม ให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมีประสิทธิภาพสูง เพื่อก้าวไปสู่การเป็นสมุนไพรเพื่อการส่งออก” นายจุฬา กล่าว

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password