ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ เดือน มี.ค.เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี ภาคท่องเที่ยวยังฟื้นตัว หนุนเปิดตลาดส่งออกกลุ่มใหม่

นายสรกิจ มั่นบุปผชาติ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2566 จากการสำรวจผู้ประกอบการจำนวน 1,322 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. อยู่ที่ระดับร้อยละ 97.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 96.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ

ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายของอุปสงค์ในประเทศ และกำลังซื้อในส่วนภูมิภาคจากรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการขยายตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศของภาครัฐ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีภาคการก่อสร้างที่ขยายตัวส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบ และค่าไฟฟ้า ขณะที่ราคาพลังงานยังคงผันผวน ในขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในทิศทางขาขึ้นเป็นอีกปัจจัยกดดันต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs นอกจากนี้ อุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ตลอดจนความผันผวนของค่าเงินบาท ก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 106.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 103.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งมีปัจจัยขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ ขณะที่การเปิดประเทศของจีน เป็นแรงสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1) ขอให้พิจารณาทบทวนมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ในงวดที่ 2 (เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566) ให้ต่ำกว่า 4.40 บาท/หน่วย


2) ส่งเสริมการเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ อาทิ ในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มประเทศ MERCOSUR (เมร์โกซูร์) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) โดยเฉพาะสินค้าประเภทยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น


3) เร่งรัดการแก้ไขปัญหาการเผาป่าตามแผนเฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password