MPI เดือน ก.พ. หดตัวร้อยละ 0.45 เหตุศก.โลกยังคงเปราะบาง

สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 หดตัวร้อยละ 0.45 รับผลกระทบอุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลง หลังสภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง ด้านอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง พร้อมคาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2566 จะทรงตัวหรือดีขึ้นเล็กน้อย

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 98.89 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.45 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 61.87 โดยอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ รถยนต์ ร้อยละ 6.64 การกลั่นน้ำมัน ร้อยละ 7.33 รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 27.99 รองเท้า ร้อยละ 6.7 และกระเป๋า ร้อยละ 34.71 แม้การผลิตภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 ได้แก่ น้ำตาล ขยายตัว ร้อยละ 23.46 จากน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ประกอบกับผลผลิตอ้อยเข้าสู่โรงงานปีนี้มีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา รถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 6.64 จากการได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้นในรถยนต์หลายรุ่น ทำให้สามารถผลิตได้เพิ่มขึ้น และการกลั่นน้ำมัน ขยายตัว 7.33 จากการผลิตน้ำมันเครื่องบิน และแก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้น เป็นไปตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สศอ. ได้คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม ปี 2566 จะทรงตัวหรือดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากอุปสงค์สินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจประเทศสำคัญของโลกทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ การบริโภคในประเทศยังขยายตัวได้จากอานิสงส์ของภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ และค่าระวางเรือปรับตัวลง ทำให้ต้นทุนในการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีทิศทางลดลง สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและติดตาม ได้แก่ รายจ่ายของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น วิกฤตการเงินและเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา และสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกา จีน และประเทศพันธมิตร

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.46 เนื่องจากมีผลผลิตอ้อยเข้าหีบปีนี้มากกว่า ปีก่อน

ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.64 จากรถยนต์นั่งขนาดกลางและรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ที่มีการขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและส่งออก หลังได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ในรถยนต์บางรุ่นมากขึ้น

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.33 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องบินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เพื่อใช้ในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าสู่ประเทศมากขึ้น

น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 44.57 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ โดยในปีนี้มีปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึงมีการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของประเทศคู่ค้า เช่น อินเดีย จีน เป็นต้น

จักรยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.99 จากความต้องการของตลาดในประเทศ และการส่งออก ประกอบกับปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตคลี่คลายมากกว่าปีก่อน

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password