สมอ. ดันกัญชงโกอินเตอร์ ประกาศเพิ่มอีก 2 มาตรฐาน รุก อุตฯก่อสร้าง

สมอ. ออกใบอนุญาต มอก. “สารสกัดจากกัญชง” ให้ผู้ประกอบการรายแรกของประเทศไทย พร้อมโกอินเตอร์ เร่งประกาศเพิ่มอีก 2 มาตรฐาน มิถุนายนนี้ รุกตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้าง แปรรูปอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย สร้างรายได้ให้เกษตรกร

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เดินหน้าผลักดันนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกัญชง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนทั้งเปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก โดยนำมาแปรรูปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ตลอดจนพัฒนาเป็นสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ เสริมสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน

ปัจจุบัน สมอ. ได้ประกาศมาตรฐานผลิตภัณฑ์ กัญชงไปแล้วจำนวน 6 มาตรฐาน ได้แก่ มอก.3171-2564 น้ำมันเมล็ดกัญชง มอก.3172-2564 สารสกัดจากกัญชงที่มีปริมาณ CBD รวม ไม่น้อยกว่า 30 % โดยมวล มอก.3173-2564 สารสกัดจากกัญชงที่มีปริมาณ CBD รวม ไม่น้อยกว่า 80 % โดยมวล มอก.3184-2564 เปลือกกัญชง มอก.3185-2564 แกนกัญชง และ มอก.3225-2564 เส้นใยกัญชง ล่าสุดได้จัดทำมาตรฐานแล้วเสร็จอีก 2 มาตรฐาน ได้แก่ มอก.3490-2565 มาตรฐานเฮมป์ครีตบล็อก และ มอก.3553-2566 มาตรฐานเฮมป์พาร์ทิเคิลบอร์ด ซึ่งเป็นการนำแกนกัญชงไปแปรรูปเป็นสินค้าวัสดุก่อสร้างจากธรรมชาติ ที่มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา แต่ยังคงรักษาคุณภาพและมาตรฐานโดยมีต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับวัสดุก่อสร้างประเภทอื่น และยังเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลด้าน BCG อีกด้วย

เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า มาตรฐานเฮมป์ครีตบล็อก ครอบคลุมเฉพาะเฮมป์ครีตบล็อกสำหรับผนังที่ไม่รับแรง โดยมีส่วนประกอบของแกนกัญชงกับตัวประสาน เช่น ปูนซีเมนต์ ยิปซั่ม และปูนกาว มาผสมกันแล้วขึ้นรูปในแบบหล่อ ซึ่งเฮมป์ครีตบล็อกที่ได้มาตรฐานนั้น จะมีน้ำหนักเบา คายความร้อนได้ดี ดูดซับเสียง ดูดกลิ่น ไม่ลามไฟ ช่วยลดน้ำหนักโครงสร้างหลัก รวมถึงจะไม่ลอก ไม่ร้าว ไม่บิดเบี้ยว ไม่แอ่นตัว เมื่อนำไปใช้งาน

ส่วนมาตรฐานเฮมป์พาร์ทิเคิลบอร์ด ครอบคลุมเฮมป์พาร์ทิเคิลบอร์ดที่มีความหนาไม่เกิน 10 มิลลิเมตร ทำจากแกนกัญชงผสมกาว ซึ่งจะมีความแข็งแรง เนื่องจากกัญชงเป็นพืชที่มีเส้นใยค่อนข้างถี่และเส้นยาว เมื่อนำมาแปรรูปจึงทำให้ได้วัสดุปิดผิวที่แข็งแรง ซึ่งทั้ง 2 มาตรฐาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศ ราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะประกาศใช้ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2566 นี้ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างที่สามารถนำกัญชงมาใช้ในการผลิตวัสดุก่อสร้าง และเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรของไทยอีกด้วย

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการยื่นคำขอใบอนุญาต มอก. ที่เกี่ยวข้องกับกัญชงแล้ว จำนวน 4 ราย และเป็นที่น่ายินดีว่ามีผู้ประกอบการรายแรกของประเทศไทยที่สามารถทำผลิตภัณฑ์ได้ตามมาตรฐาน ได้รับใบอนุญาต มอก.3173-2564 สารสกัดจากกัญชงที่มีปริมาณ CBD รวมไม่น้อยกว่า 80% โดยมวล จาก สมอ. แล้ว คือ บริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ผลิตสารสกัดจากกัญชงที่ส่งขายให้กับผู้ผลิตเครื่องสำอาง และอาหาร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ประเทศเยอรมนี

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิตสมุนไพรเพื่อสุขภาพ เช่น Oil Drop ใต้ลิ้น เพื่อให้ผ่อนคลาย และผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดประคบ เป็นต้น ซึ่งการได้รับใบอนุญาต มอก. จะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทยในตลาดโลกได้ต่อไป เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password