กฟผ. -มาเลเซีย พัฒนาระบบส่งไฟฟ้ารองรับ ASEAN Power Grid
กฟผ. ร่วมกับการไฟฟ้ามาเลเซีย (TNB) ศึกษาพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมต่อระหว่างไทยและมาเลเซีย รองรับ ASEAN Power Grid เพื่อส่งเสริมความมั่นคงในการจัดหาพลังงานไฟฟ้า เดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าอาเซียนในอนาคต
เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2566 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับการไฟฟ้ามาเลเซีย (Tenaga Nasional Berhad : TNB) เพื่อร่วมพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าระหว่างไทยและมาเลเซีย โดยมีนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. และดาโตะ อินเดรา บาฮาริน บินดิน ประธานกรรมการบริหาร TNB เป็นผู้ลงนาม นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ และดาโตะ นอร์ อัซมาน บิน มุฟตี กรรมการผู้จัดการ TNB ร่วมเป็นพยาน ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่าง TNB และ กฟผ. ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการยกระดับการเชื่อมต่อระบบส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศเพื่อรองรับการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) สร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของภูมิภาค และใช้สำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงหรือยามฉุกเฉิน เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าอาเซียนในอนาคต โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันศึกษาความเหมาะสม แนวทางการเพิ่มขีดความสามารถโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียเป็นระยะเวลา 3 ปี ทั้งการออกแบบระบบส่งไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ศึกษากฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประเมินต้นทุนและความเสี่ยงต่าง ๆ เนื่องจากปัจจุบันสายส่งไฟฟ้ากระแสตรงแรงดันสูง (HVDC) ขนาด 300 เมกะวัตต์ ที่เชื่อมต่อระหว่างสถานีไฟฟ้าแรงสูงคลองแงะ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา กับสถานีไฟฟ้าแรงสูงกูรูน รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 และจะครบอายุการใช้งานในปี 2570
ด้านนายดาโตะ อินเดรา บาฮาริน บินดิน ประธานกรรมการบริหาร TNB กล่าวเพิ่มเติมว่า TNB และ กฟผ. มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันขับเคลื่อน ASEAN Power Grid ให้บรรลุตามเป้าหมาย ซึ่งการศึกษาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถระบบส่งไฟฟ้าระหว่างไทยกับมาเลเซียในครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่ช่วยผลักดันนโยบายดังกล่าว โดย TNB ยังดำเนินการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้ากับประเทศสิงคโปร์ และร่วมกับการไฟฟ้าอินโดนีเซีย (PLN) เชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าจากเกาะสุมาตราไปยังมาเลเซีย และจากกาลิมันตันไปยังซาบาห์ นอกจากนี้ TNB หวังว่าจะได้มีโอกาสเรียนรู้จากความเชี่ยวชาญของ กฟผ. ทั้งการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานและพัฒนาต่อยอดความร่วมมือด้านอื่น ๆ กับ กฟผ. ในอนาคตต่อไป