เกมเปลี่ยนไทย! ปม EXIM BANK ชงสู้เศรษฐกิจโลก

EXIM BANK เสนอ “ยกเครื่องประเทศไทย” ด้วยกลยุทธ์ “ซ่อม สร้าง เสริม สานพลัง” ประกาศสร้าง “คน” และ “ทีม” ประเทศไทยบุกตลาดโลก ตั้งเป้าสร้าง 3 แสน “SMEs ผู้ส่งออก” ภายใน 2 ปีข้างหน้า พร้อมดันสินเชื่อคงค้างที่ 2 แสนล้าน ภายใต้ NPL ไม่เกิน 3.5% ชี้! กลุ่มธุรกิจมีและไร้อนาคต ที่นักธุรกิจไทยต้องรู้

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงนโยบายในโอกาสครบรอบ 28 ปีของธนาคาร โดยย้ำตอนหนึ่งว่า ข้อจำกัดด้านต่างๆ ที่ไทยมี ไม่ว่าจะเป็น 1.ขนาดตลาดและกำลังซื้อที่ไม่สูง เพราะเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน 2.การขาดอุตสาหกรรมในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Industries) ที่ผ่านมาการผลิตเน้นเชิงปริมาณมากกว่าการสร้างมูลค่าเพิ่ม 3.ขาดนักรบเศรษฐกิจไปบุกตลาดต่างประเทศ ท่ามกลางตลาดในประเทศที่มีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่ตลาดโลกเต็มไปด้วยโอกาส และ 4.ระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนานวัตกรรม เพื่อรองรับการค้าการลงทุนในโลกยุคใหม่ จำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว

ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย EXIM BANK จึงขอเสนอกลยุทธ์ “เกมเปลี่ยนประเทศไทย (Thailand Game Changer)” ดังนี้

  1. เกมสร้างนักรบเศรษฐกิจ ในการปลดล็อกข้อจำกัดด้านขนาดตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศประเทศไทยต้องเร่งสร้างผู้ส่งออก SMEs ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 23,000 รายหรือไม่ถึง 1% ของ SMEs รวม เทียบกับเวียดนามที่มีสัดส่วนถึง 10%
  2. เกมสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและตอบโจทย์กระแสโลกในอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมสีเขียว (Green) เพื่อรองรับกระแสรักษ์โลก อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) เพื่อสร้างความสะดวกสบายและตอบสนองความต้องการอย่างรวดเร็ว และอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ (Health) สอดรับกระแสการดูแลสุขภาพ
  3. เกมสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อธุรกิจการค้าและการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พาณิชยนาวี Logistics และอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นฐานของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

โดยในปี 2565 ธนาคารฯมีแผนจะดำเนินงาน ดังนี้

  • “ซ่อม” อุตสาหกรรมที่ประสบวิกฤต เช่น สายการบิน พาณิชยนาวี และอุตสาหกรรมที่เริ่มไปต่อไม่ได้ โดยสนับสนุนให้เกิดการ Transform ธุรกิจและพัฒนากิจการตอบโจทย์ลูกค้ายุค Next Normal
  • “สร้าง” อุตสาหกรรมสู่อนาคต อาทิ การสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ธุรกิจที่เสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio, Circular, Green Economy : BCG Economy) และสร้างนักรบเศรษฐกิจหน้าใหม่ที่พร้อมบุกตลาดโลก โดยมุ่งเน้นบ่มเพาะกลุ่มผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก (Indirect Exporters) ให้ผันตัวมาเป็นผู้ส่งออก เริ่มต้นจากการค้าออนไลน์บน EXIM Thailand Pavilion ที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม Alibaba
  • “เสริม” การค้าการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่ อาทิ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP)
  • “สานพลัง” กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเดินเกมเปลี่ยนแปลงประเทศไทย สร้างคุณค่าและผลลัพธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ในการเดินหน้าภารกิจข้างต้น พื้นฐานสำคัญคือ คน (People) ซึ่ง EXIM BANK จะเร่งพัฒนาองค์กรให้เป็น Empathic Workplace ที่ดึงดูดให้บุคลากรภายในองค์กร พร้อมส่งมอบผลลัพธ์ที่ดีไปสู่ลูกค้า ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs และผู้คนในสังคมที่ยังเปราะบาง ให้เข้มแข็ง มีศักยภาพ และยืดหยุ่น พร้อมรับมือและปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและส่งมอบสินค้าที่ตรงใจผู้บริโภค อันจะนำไปสู่ผลกำไร (Profit) ที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลกโดยรวม บนรากฐานของการพัฒนากระบวนการ (Process) และช่องทาง (Platform) ใหม่ ๆ ที่จะไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีในรูปของบริการทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน เพื่อตอบโจทย์โลกอนาคตอย่างยั่งยืน” กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ย้ำ

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2564 แม้ว่าโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ แต่ EXIM BANK สามารถพลิกผลประกอบการกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง โดยมีกำไรสุทธิสูงถึง 1,531 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี ด้วยการ ขยายบทบาทการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ทั้ง ด้านการเงิน (สินเชื่อและประกัน) และ ไม่ใช่การเงิน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง0

โดยปี 2564 EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 152,773 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 17,545 ล้านบาทหรือ 12.97% ซึ่งเป็นผลงานด้านสินเชื่อที่สูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการมา 28 ปี แบ่งเป็น สินเชื่อเพื่อการค้า 40,259 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 112,514 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 13.50% จากปีก่อน สะท้อนบทบาทการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) ตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด โดยการให้สินเชื่อทั้งหมดของ EXIM BANK ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 196,726 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 70,797 ล้านบาท หรือคิดเป็น 35.99%

ส่วนการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศ พบว่า ณ สิ้นปี 2564 EXIM BANK มีวงเงินสะสมสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวม 102,152 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 66,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,870 ล้านบาทหรือ 17.50% เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ EXIM BANK ยังสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ New Frontiers รวมถึง CLMV โดยปี 2564 มีสินเชื่อคงค้างจำนวน 50,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,312 ล้านบาทหรือ 25.94% เมื่อเทียบกับปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้รุกตลาด New Frontiers รวมถึง CLMV ซึ่งมีโอกาสทางธุรกิจและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง

ด้าน บริการประกันการส่งออกและการลงทุน ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย ปี 2564 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 153,466 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นถึง 18,394 ล้านบาท หรือ 13.62% เมื่อเทียบกับปีก่อน

นอกจากนี้ EXIM BANK ได้ทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการทั้งในด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน ด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการชำระเงิน พักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้ง ให้การสนับสนุนด้านข้อมูลและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ผ่านการให้คำปรึกษาและจัดอบรม/สัมมนาออนไลน์ ทั้งนี้ ปี 2564 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการกว่า 12,800 ราย ด้วยวงเงินรวมประมาณ 73,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ EXIM BANK มีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 2.73% ลดลงจาก 3.81% ณ สิ้นปี 2563 โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 4,166 ล้านบาท แต่มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 11,670 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 280.11%

นอกจากนี้ ในปี 2564 EXIM BANK ยังได้รับอนุมัติเงินเพิ่มทุนจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 4,198 ล้านบาท นับเป็นการเพิ่มทุนครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยได้รับเงินแบ่งจ่ายงวดที่ 1 จำนวน 2,198 ล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน 2564 และงวดที่ 2 อีกจำนวน 2,000 ล้านบาทภายในปี 2565 เปรียบเสมือนการเติมน้ำมันให้ EXIM BANK เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถทำการค้าการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างเข้มแข็ง

“โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Next Normal ที่ผู้คนเริ่มปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะจากโควิด-19 พร้อมกับโอกาสที่กำลังเข้ามาตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การสร้างผู้ส่งออกใหม่จากกลุ่มผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออกที่มีจำนวนมากจะทำให้ธุรกิจส่งออกของไทยมีจำนวนรายและมูลค่าเพิ่มขึ้น เป็นการขยายฐานการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมั่นคง ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของ GDP ขณะเดียวกันยังช่วยนำพาผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมี EXIM BANK ทำหน้าที่ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลังการพัฒนาผู้ประกอบการไทยตลอดห่วงโซ่อุปทาน สร้างผลผลิตเป็นนักรบเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและภาคการส่งออกให้กลับมาเติบโตได้ทวีคูณและยั่งยืน” ดร.รักษ์ กล่าว พร้อมยืนยันว่า…

ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่ง EXIM BANK จะมีอายุครบรอบ 30 ปี โดยคาดหวังเป็นธนาคารที่มีขนาดสินเชื่อคงค้างไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ภายใต้ NPL ไม่เกิน 3.5% โดยในส่วนของ สินเชื่อราว 75% จะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่มีอนาคต เช่น ธุรกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม เช่น แบตเตอรี่ และชาร์จเจอร์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและผู้สูงอายุ, ธุรกิจการผลิตอาหารเพื่ออนาคต ฯลฯ

ส่วนที่เหลือราว 25% จะเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ ธนาคารมีเป้าหมายจะยกระดับกลุ่มที่เป็นเครือข่ายซัพพลายเชนของผู้ส่งออกรายใหญ่ซึ่งมีราว 3 แสนรายจากทั้งหมดกว่า 3 ล้านราย ขึ้นชั้นเป็นผู้ส่งออกไปยังตลาดเกิดใหม่หรือตลาดเก่าที่จะมีช่องว่าง โดยสินเชื่อจำนวนนี้ จะถูกนำไปใช้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน รวมถึงมีเป้าหมายที่จะสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ส่งออกตัวจริงให้ได้เพิ่มจากปัจจุบันที่มีเพียง 30,000 ราย เพื่อให้ได้ถึง 300,000 ราย ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า

ก่อนหน้านี้ ดร.รักษ์ เคยพูดถึงธุรกิจที่อาจใช่ความหวังและเป็นอนาคตของไทยอีกต่อไป หนึ่งในนั้นก็คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะเชื่อว่าจากนี้ไป จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่เยอะเหมือนเช่นปี 2562 ที่มีมากเกือบ 40 ล้านคน ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในไทย ก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password