กฟผ. จับมือ จุฬาฯ เดินหน้าศึกษากระบวนการผลิตไฮโดรเจน ผลิตไฟฟ้าแทนฟอสซิล

กฟผ. และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามสัญญามอบทุนวิจัยการศึกษากระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำจากแหล่งน้ำดิบธรรมชาติ เพื่อผลิตไฮโดรเจนด้วยกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า ให้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกสำหรับผลิตไฟฟ้าทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างยั่งยืน สนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ

ดร.นรินทร์ เผ่าวณิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Unisearch) ร่วมลงนามสัญญามอบทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรม “การศึกษากระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำจากแหล่งน้ำดิบธรรมชาติ ณ พื้นที่กรณีศึกษา เพื่อการผลิตไฮโดรเจนด้วยกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์
เพียรมนกุล กรรมการ กฟผ. และประธานกรรมการธรรมาภิบาลและความยั่งยืน กฟผ. นายวีระ ตั้งวิชาชาญ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารเชื้อเพลิง กฟผ. และ ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ กรรมการบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 3 อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ.

ดร.นรินทร์ เผ่าวณิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ควบคู่กับการให้ความสำคัญในการดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ผ่านกลยุทธ์สำคัญด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ตลอดจนศึกษาเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยในอนาคต กฟผ. มีแผนนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจากเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

ความร่วมมือในการวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากน้ำด้วยกระบวนการแยกน้ำโดยไฟฟ้า พร้อมต่อยอดสู่การทดลองในระบบต้นแบบ (Pilot Scale) ก่อนนำไปใช้งานจริง ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าอย่างยั่งยืน

ด้าน ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง กล่าวเสริมว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนเป้าหมายของ กฟผ. ในการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ผ่านการศึกษาการปรับปรุงคุณภาพน้ำจากแหล่งน้ำดิบธรรมชาติโดยบุคลากรที่มีศักยภาพสูง ตลอดจนการวิจัยเชิงนวัตกรรมและการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและสถาบันการศึกษา เพื่อนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีตอบโจทย์ความท้าทายด้านพลังงานสะอาด และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน และขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี 6 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 – 30 กันยายน 2569

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password