สสว.ชี้ เอสเอ็มอีไทยมีความรู้เรื่อง ESG เริ่มปรับตัวแต่ขาดเงินทุน
สสว.ชี้ เอสเอ็มอีไทยมีความรู้เรื่อง ESG เริ่มปรับตัวในขั้นพื้นฐาน เช่น การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคัดแยกขยะ ฯลฯ แต่ยังไม่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อเข้าสู่เทรนด์ธุรกิจแบบยั่งยืนได้ ด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุน รวมถึงสภาพคล่องของธุรกิจ
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยผลสำรวจโอกาสและความท้าทายของธุรกิจเอสเอ็มอีสู่เทรนด์ธุรกิจ ESG (Environment, Social และ Governance) หรือแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน ซึ่ง สสว. ได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 2,675 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 21 – 31 ตุลาคม 2567 พบว่า เอสเอ็มอีไทย ร้อยละ 65.3 มีความรู้เกี่ยวกับแนวคิด ESG โดยพิจารณาสัดส่วนการรับรู้เอสเอ็มอี ร้อยละ 96.2 มีความรู้อยู่ในระดับพื้นฐาน เช่น รูปแบบการดำเนินธุรกิจแนว ESG จะช่วยลดการสร้างมลพิษ และรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีความเข้าใจเชิงลึกและผลลัพธ์ที่สามารถจับต้องได้
ขณะที่ร้อยละ 3.8 มีความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานและมีการเชื่อมโยงนำไปสู่ผลลัพธ์ได้
เมื่อพิจารณาสัดส่วนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ พบว่า เอสเอ็มอีร้อยละ 74.9 รับทราบเกี่ยวกับแนวคิด ESG แต่ยังไม่มีการนำไปใช้ และมีเอสเอ็มอีเพียงร้อยละ 25.1 เริ่มมีความตระหนักรู้ เนื่องจากเอสเอ็มอีให้ความสำคัญกับการนำมาปรับใช้กับธุรกิจในขั้นพื้นฐาน และบางขั้นตอนสามารถเริ่มทำได้ง่าย เช่น การลดการใช้พลาสติกและการแยกขยะ
นอกจากนี้ ยังพบว่า ธุรกิจขนาดกลางมีสัดส่วนในการปรับใช้ที่เข้มข้นมากกว่าธุรกิจขนาดอื่น ๆ เนื่องจากให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ตรงกับเป้าหมายขององค์กร มีการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดและการพัฒนากระบวนการผลิตสินค้า/บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือพัฒนาชุมชนโดยรอบ โดยบางส่วนได้รับอิทธิพลจากคู่ค้ารายใหญ่ หรือเป็นกลุ่มที่ต้องส่งออกไปยังประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG
ส่วนด้านการรับรู้ข่าวสารของผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี พบว่า รับรู้ข้อมูล ESG ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ร้อยละ 54.4 รองลงมา คือรับทราบผ่านหน่วยงานภาคเอกชน ร้อยละ 23.2 และผ่านหน่วยงานภาครัฐ ร้อยละ 21.7
ในส่วนกิจกรรมภายใต้แนวคิด ESG ที่ผู้ประกอบการรับรู้มากที่สุด คือกิจกรรมที่ลดการสร้างมลพิษ เช่น การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 รองลงมาคือ การเลือกใช้สินค้ามือสอง/ใช้บริการเช่าสินค้า การเลือกใช้พลังงานทดแทน การผลิตสินค้าจากวัตถุดิบธรรมชาติโดยไม่ใช้สารเคมี (Organic Product) เป็นต้น
ในการสำรวจยังพบว่า เอสเอ็มอีมีการประเมินถึงผลที่จะเกิดขึ้นหากนำแนวคิด ESG มาปรับใช้ในธุรกิจ พบว่า เอสเอ็มอีร้อยละ 29.4 มองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจโดยจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า/บริการเพิ่มขึ้น รองลงมาคือ ขั้นตอนการทำงาน การจดรับรองมาตรฐาน ต้นทุนในการจ้างผู้ตรวจสอบตามมาตรฐานต่าง ๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี จากผลการสำรวจข้อมูลดังกล่าว หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของ ESG รวมทั้งการสนับสนุนด้านการเงินหรือแหล่งทุนในการปรับตัว การลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจดทะเบียนธุรกิจหรือการขอมาตรฐานรับรอง
ทั้งนี้ สสว. มีโครงการ Business Development Service หรือ โครงการ BDS ที่จะช่วยส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ในการอุดหนุนผู้ประกอบการ ให้สามารถสร้างมูลค่าหรือพัฒนาธุรกิจเพื่อไปสู่การเป็นองค์กรอย่างยั่งยืน โดยค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://bds.เอสเอ็มอี.go.th/ นอกจากนี้การสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มผู้บริโภคถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้การนำแนวคิด ESG ไปปรับใช้อย่างประสบความสำเร็จ เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง