“เอกนัฏ” ปิดฉากโรดโชว์ญี่ปุ่นดึงลงทุนเพิ่มกว่าแสนล้าน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผลการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายแรกที่ตนอยากไปพบหารือผู้บริหารระดับสูงภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และหารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น

รวมทั้งหารือร่วมกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น เพื่อรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยระบุว่า ในการเข้าพบหารือกับ นายมุโต โยจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองประเทศ ณ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) กรุงโตเกียว มีประเด็นสำคัญ คือ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ที่ METI มีความร่วมมืออันดีที่มีต่อไทย และย้ำถึงความสำคัญของญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตรที่ยาวนาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันได้หารือแนวทางและมาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) และรถยนต์ไฮบริด (HEV) โดยเฉพาะรถยนต์ที่เป็น Product champion ได้แก่ รถปิคอัพ และ Eco car ที่กำลังถูกดิสรัป (Disrupt) จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (xEV)


นายเอกนัฏฯ กล่าวว่า ตนและคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปประชุมหารือกับผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทแม่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ได้สร้างฐานการผลิตในประเทศไทย จำนวน 6 บริษัทแบบตัวต่อตัว (One to One) ณ สำนักงานใหญ่/สำนักงานสาขากรุงโตเกียว โดยได้พบหารือกับผู้บริหารระดับ CEO จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ โตโยต้า มาสด้า มิตซูบิชิ และอิซูซุ และผู้บริหารระดับ EVP จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ ฮอนด้า และนิสสัน ซึ่งตนได้แสดงความห่วงใยต่อผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น ที่กำลังเผชิญสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยหดตัวลงอย่างมาก

สาเหตุหลักเนื่องจาก ความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของไฟแนนซ์ สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว รวมทั้ง ปัญหาค่าครองชีพและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ที่ส่งผลให้ความต้องการและกำลังซื้อของประชาชนลดลง โดยเฉพาะในสินค้าที่เป็น Product Champions ของไทย ได้แก่
รถปิกอัพ และรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car)

โดยล่าสุด กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี 2567 จากเดิมที่ตั้งไว้ 1.9 ล้านคัน ปรับลดมาเป็น 1.7 ล้านคัน โดยเป็นการปรับลดในส่วนของการผลิตเพื่อตลาดในประเทศ เหลือเพียง 550,000 คัน

ในขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศยังคงยึดเป้าหมายเดิม คือ 1.15 ล้านคัน อย่างไรก็ตาม ตนได้ให้ความมั่นใจกับผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาส 4 ปี 2567 มีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับ รัฐบาลได้พยายามปลดล็อคเรื่องการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด และอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus) และการจับจ่ายใช้สอย จึงมั่นใจได้ว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศในปีหน้า (2568) จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน


สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ความยั่งยืน (Sustainable Mobility) รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาสร้างความสมดุลระหว่างมิติด้านสิ่งแวดล้อมและมิติด้านเศรษฐกิจควบคู่กันไป โดยในมิติด้านสิ่งแวดล้อมรัฐบาลจะมุ่งส่งเสริมรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเพื่อลดปัญหาโลกเดือด (Global Boling) ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีเพียงรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (EV) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงรถยนต์ที่ได้รับการพัฒนาตามความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ เช่น รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ –
สันดาปภายใน (ICE) ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยลดมลพิษ/ประหยัดพลังงาน รวมทั้ง รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) อีกด้วย

ในขณะที่มิติด้านเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลมุ่งส่งเสริมรถยนต์สู่การเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบอุตสาหกรรมเศรษฐกิจของไทย ผ่านกลไกการกำหนดให้มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ (Local Content) เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ซึ่งการที่จะตอบโจทย์ทั้ง 2 มิติได้นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศ (ECO System) และปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ (Infrastructure) ให้มีความสมดุลและเท่าเทียมกัน เพื่อให้รัฐบาลสามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 รวมทั้ง เป้าหมายการส่งเสริมให้ฐานการผลิตหลักของประเทศ (ร้อยละ 70) ซึ่งเป็นรถ ICE ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) ในอนาคต


นายเอกนัฏฯ พร้อมสานต่อการจัดตั้งกลไกการหารือ Energy and Industrial Dialogue ตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อยกระดับความร่วมมือในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาการชะลอตัวของอุปสงค์ อุปสรรคทางกฎระเบียบ และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และโครงการ Global South Future-Oriented Co-Creation Project เป็นโครงการที่ส่งเสริมความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน (All-win) ระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ โดยไทยพร้อมสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

ขณะที่การพัฒนาบุคลากร ทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะสานต่อความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะโครงการ LASI, LIPE, และ Smart Monodzukuri ซึ่งมีบุคลากรไทยได้รับการพัฒนาแล้วกว่า 1,800 คน นอกจากนี้ ยังได้แสดงความยินดีต่อญี่ปุ่นในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2025 ในช่วงเดือนเมษายน 2025 ณ จังหวัดโอซาก้า


ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับฟังแผนการลงทุนในอนาคตของทุกบริษัท รวมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางหรือมาตรการที่เสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ ทั้งในส่วนของมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาระดับการผลิตของโรงงาน เช่น มาตรการกระตุ้นตลาด การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฮบริด (HEV) เป็นต้น และ มาตรการระยะกลางเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เช่น การจัดการซากรถยนต์เก่า (End-of-Life Vehicles) มาตรการรถเก่าแลกรถใหม่เพื่อกระตุ้นตลาด และมาตรการส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น


“ผลการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายญี่ปุ่น ได้รับสัญญาณบวกที่ชัดเจนว่า ทุกบริษัทยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นฐานการผลิตและส่งออกของประเทศไทย และจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการผลิตรถปิกอัพ รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) และรถยนต์ไฮบริด เพื่อตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก (ทั้งในรูปแบบของ รถยนต์สำเร็จรูป และชิ้นส่วนครบชุด) โดยคาดว่า ในช่วงเวลา 3-5 ปีนี้ มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 120,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นขอให้ภาครัฐกำหนดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจน และเร่งส่งเสริมการลงทุนโดยเร็ว โดยเฉพาะในโครงการผลิตรถยนต์ไฮบริดและชิ้นส่วนสำคัญ ซึ่งคาดว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ จะเสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในปีนี้”นายณัฐพล กล่าว

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password