5 สมาคมตลาดคาร์บอน ลงนาม สนับสนุนกรอบการดำเนินงานตลาดคาร์บอนอาเซียน
สมาคมตลาดคาร์บอนหลัก 5 แห่งจากประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และอาเซียน ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Collaboration – MoC) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 29 หรือ COP29 ที่จัดขึ้น ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนา “กรอบการดำเนินงานตลาดคาร์บอนร่วมของอาเซียน” (ASEAN Common Carbon Framework – AACF) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานและแนวทางสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพและความโปร่งใส ร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ
โดยมี นายนิก นัซมี บิน นิก อะฮ์มัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมของประเทศมาเลเซีย Mr. Stanley Loh ปลัดกระทรวงกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมของประเทศสิงคโปร์ Mr. Ahmad Kamrizamil Mohd Riza เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศอาเซอร์ไบจาน และนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ร่วมก่อตั้ง Carbon Markets Club ร่วมเป็นพยานกิตติมศักดิ์
ผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ เป็นผู้แทนของสมาคมต่าง ๆ จากภาคเอกชนของประเทศในอาเซียน ได้แก่
Carbon Markets Club จากประเทศไทย ลงนามโดย นางกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธาน Carbon Markets Club
Malaysia Carbon Market Association (MCMA) จากประเทศมาเลเซีย โดย Dr. Renard Siew
ASEAN Alliance on Carbon Market (AACM) โดย Ms. Natalia Rialucky
Indonesia Carbon Trade Association (IDCTA) จากประเทศอินโดนีเซีย โดย Mr. Yoshan Fazri
Singapore Sustainable Finance Association (SSFA) จากประเทศสิงคโปร์ โดย Ms. Kavitha Menon
ภายใต้กรอบการดำเนินงานตลาดคาร์บอนร่วมของอาเซียน (AACF) มีการวางแนวทางเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการค้าคาร์บอนเครดิตอย่างยั่งยืนในภูมิภาค โดยมีจุดมุ่งหมายสนับสนุนให้เกิดโครงการคาร์บอนเครดิตที่ได้มาตรฐาน เสริมสร้างศักยภาพบุคลากรผ่านการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี พร้อมทั้งสนับสนุนความร่วมมือทางธุรกิจข้ามพรมแดนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของตลาดคาร์บอนที่เชื่อมโยงกัน ลดอุปสรรคในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ และร่วมขับเคลื่อนภูมิภาคสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้มีนายนิก นัซมี บิน นิก อะฮ์มัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมของประเทศมาเลเซียเป็นพยาน เขากล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “ความร่วมมือนี้เป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตของตลาดคาร์บอนในภูมิภาคอาเซียน กรอบการดำเนินงานตลาดคาร์บอนร่วมของอาเซียนจะช่วยให้ยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอนของอาเซียนเป็นรูปธรรม และด้วยความร่วมมือนี้ เราหวังว่าจะเห็นอาเซียนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศระดับโลก โดยอาศัยทั้งเทคโนโลยีและการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ”
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้ง Carbon Markets Club กล่าวว่า “ในฐานะคลับรักษ์โลกลดก๊าซเรือนกระจกของภาคเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ที่สนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและสร้างความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราภูมิใจที่ได้เติบโตจากสมาชิกผู้ก่อตั้ง 11 รายสู่ 1,300 รายภายในเวลาเพียง 3 ปี เราให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และมีความมุ่งมั่นในการร่วมสร้างตลาดคาร์บอนที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เรามีความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรในระดับภูมิภาค สนับสนุนกรอบการดำเนินงานตลาดคาร์บอนร่วมของอาเซียน เพื่อปูทางสู่อนาคตที่ยั่งยืนและคาร์บอนต่ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสร้างความมั่นใจว่าความพยายามร่วมกันของเราจะส่งผลในระดับโลกอย่างแท้จริง”
Carbon Markets Club ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 โดยบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) และอีก 9 องค์กรพันธมิตร เป็นการริเริ่มของภาคเอกชนในรูปแบบชมรมที่ไม่แสวงหาผลกำไรแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการผลักดันตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ และให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 1,300 ราย ให้บริการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (RECs) พร้อมทั้ง มีการนำเสนอเครื่องมือประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์สำหรับองค์กร (CFO) และเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์สำหรับบุคคล (MyCF) โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังมีการจัดสัมมนาออนไลน์ และการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของสังคมในวงกว้างในตลาดคาร์บอนและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก