แนะรัฐอย่าฝืนตลาด เลือกตรึงราคาน้ำมันดีเซล คนจนไม่ได้ประโยชน์

รองผจก.ใหญ่ไทยพาณิชย์ ฉะนโยบายรัฐตรึงราคาดีเซล คนรายได้น้อยไม่ได้ประโยชน์ แนะอย่าฝืนราคาตลาดแต่ทยอยขึ้นให้คนปรับตัว อีไอซี หั่นจีดีพีไทย ร่วงเหลือ 2.7% เหตุราคาพลังงานสูง สวนทางเงินเฟ้อพุ่งอาจสูงสุดในรอบ 14 ปี

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัญหาของไทยขณะนี้คือ ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นตามทิศทางราคาพลังงานโลก กระทบการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของครัวเรือน ที่เจอปัญหาแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านรายได้ครัวเรือนจากตลาดแรงงานที่ซบเซา และภาระหนี้ครัวเรือนสูง มองว่านโยบายการตรึงราคาน้ำมันดีเซลของรัฐบาล มีผลเสียคือ เงินอุดหนุนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกใช้เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้มีรายได้น้อย เพราะผู้ได้รับประโยชน์หลักคือครัวเรือนที่มีรายได้สูง เนื่องจากเป็นผู้ใช้พลังงานในปริมาณมากกว่า

ทั้งนี้จากข้อมูลมีกลุ่มครัวเรือนรายได้สูง 20% แรกได้รับประโยชน์เงินจากมาตรการนี้มากถึง 9.6 เท่าเทียบกับ กลุ่มรายได้น้อย 20% ล่างสุด และการตรึงราคาพลังงานที่ระดับใดระดับหนึ่งนานเกินไป ทำให้บัญชีเดินสะพัดขาดดุลมาก เป็นภาระด้านงบประมาณที่สูง ไม่ยั่งยืน และสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจหากภาครัฐจำเป็นต้องยกเลิกอุดหนุนโดยฉับพลัน ส่งผลให้ราคาพลังงานต้องปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้เศรษฐกิจชะงักงันได้

นอกจากนี้สร้างผลเสียระยะยาวคือ การอุดหนุนราคาพลังงานฟอสซิล ที่ไม่สะท้อนต้นทุนต่อเนื่องเป็นเวลานานส่งผลให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ต่ำและการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลมากเกินไป ดังนั้นภาครัฐจึงควรปรับเปลี่ยนมาตรการโดยเน้นการบริหารราคาพลังงานในลักษณะทยอยปรับขึ้นราคาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ฝืนทิศทางของราคาในตลาด เพื่อให้เวลาผู้บริโภคในการปรับตัว

ขณะเดียวกันต้องเสริมด้วยมาตรการการอุดหนุนเฉพาะจุดแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือ กลุ่มธุรกิจขนส่งสาธารณะ เพื่อลดผลกระทบความเดือดร้อนอย่างตรงจุด ควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจแก่ภาคเอกชนในการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและยกระดับเสถียรภาพของระบบพลังงานในระยะยาว

นายยรรยง กล่าวว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจอีไอซี ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 65 จากเดิมคาด 3.2% เหลือ 2.7% จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ยทั้งปี จะเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปีที่ระดับ 4.9% ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศจะฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่ประมาณการไว้เดิม โดยเฉพาะการบริโภคที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบ ทั้งจากกำลังซื้อของครัวเรือนที่ลดลงตามราคาพลังงานและอาหารที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และจากการฟื้นตัวของค่าจ้างแรงงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ไม่ทันค่าครองชีพ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password