พาณิชย์ปลื้มยอดจดทะเบียนตั้งใหม่ 8 ด. พุ่ง 6.1 หมื่นราย – ชี้ ‘ธุรกิจร้านอาหาร’ กำไรอู้ฟู่ ดันรุกตลาดโลก – ดึงสรรพากรสอบลึก ‘นอมินี’ ต่างด้าวขายแข่งในไทย

เผย! ผลการจดทะเบียน 8 เดือนแรกปี 2567 เพิ่มขึ้น เหตุจากความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และท่องเที่ยวคึกคัก ระบุ! ธุรกิจร้านอาหารช่วง 3 ปี ขยายตัวสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6.3 หมื่นล้านบาท ด้าน “อธิบดีฯอรมน” สั่งหนุนธุรกิจร้านอาหารสู้ในเวทีโลก ยกระดับร้านอาหารไทย ผ่านตราสัญลักษณ์ Thai SELECT รุกสร้างแบรนด์ขายผ่านแฟรนไชส์ พร้อมชง “ข้อมูลลึก” ให้กรมสรรพากร ติดตามตรวจสอบธุรกิจต่างด้าว ที่สบช่องเปิดแข่งด้านท่องเที่ยว ร้านอาหาร โชห่วย หวั่นเข้าข่ายใช้นอมินี

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการวิเคราะห์สถานการณ์จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนสิงหาคม 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า มีจำนวน 7,599 ราย เพิ่มขึ้น 175 ราย หรือ 2.36% และทุนจดทะเบียน 17,649.67 ล้านบาท ลดลง 7,256.08 ล้านบาท หรือ 29.13% ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกพบว่า เดือนสิงหาคม 2566 มีธุรกิจตั้งใหม่จดทะเบียนทุนสูง 4,099.50 ล้านบาท จึงทำให้ทุนจดทะเบียนเดือนสิงหาคม 2567 ลดลงผิดปกติ แต่เมื่อไม่นับรวมธุรกิจที่จดทะเบียนสูงดังกล่าว ทุนจดทะเบียนเดือนสิงหาคม 2567 จะลงลงเพียงเล็กน้อยอยู่ที่ 3,156.58 ล้านบาท คิดเป็น 15.17% โดยประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 538 ราย ทุนจดทะเบียน 1,082.69 ล้านบาท, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 508 ราย ทุนจดทะเบียน 1,745.75 ล้านบาท และ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 366 ราย ทุนจดทะเบียน 658.62  ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.08% 6.68% และ 4.82%   

ส่วน การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม 2567) พบว่า มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระจายตัวเติบโตในธุรกิจทุกประเภท อาทิ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า โรงแรมที่พักและการท่องเที่ยว ธุรกิจด้าน Soft-power เช่น ผลิตสุราพื้นบ้าน สื่อภาพยนต์ ธุรกิจการดูแลสุขภาพ ธุรกิจ e-Commerce และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงองค์กร ทั้งนี้เ เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การส่งออกที่ขยายตัว การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แต่ยังคงต้องติดตามภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศระยะสั้นได้ ทั้งนี้ กรมฯ ยังคาดการณ์ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจปี 2567 อยู่ที่ 90,000 – 98,000 ราย

โดยการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนสิงหาคม 2567 มีจำนวน 2,063 ราย เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 56 ราย คิดเป็น 2.79% และทุนจดทะเบียน 13,813.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,775.91 ล้านบาท คิดเป็น 96.28% โดยในเดือนนี้ มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนเลิกเกิน 1,000 ล้านบาท คือ ธุรกิจโรงงานผลิตและจำหน่าย ให้เช่าเทปคาสเซ็ท แผ่นเสียง แถบบันทึกเสียงฯ ที่มีทุนจดทะเบียน 4,411.50 ล้านบาท หากไม่รวมธุรกิจรายนี้ทุนจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจเดือนสิงหาคม 2567 จะลดลงเพียง 2,364.41 ล้านบาท คิดเป็น 33.59% โดยประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 168 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 467.65 ล้านบาท, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 110 ราย ทุนจดทะเบียน 483.42 ล้านบาท และ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 77 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 156.42 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.14% 5.33% และ 3.73% จากจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนสิงหาคมตามลำดับ

สำหรับ การจดทะเบียนเลิกสะสม 8 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-สิงหาคม 2567) มีจำนวน 9,992 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ลดลง 979 ราย คิดเป็น 8.92% ทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 99,393.33  ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 35,222.68 ล้านบาท คิดเป็น 54.89% ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร จำนวน 1 ราย ทุนจดทะเบียนกว่า 48,209.34 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ เป็นสาเหตุให้ตัวเลขทุนจดทะเบียนเลิก 8 เดือนแรกสูงกว่าปกติ หากตัดธุรกิจดังกล่าวออกไปทุนจดทะเบียนเลิกจะอยู่ที่ 51,183.99 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนจำนวนการจดทะเบียนเลิก คิดเป็น 16.16% ของการจัดตั้งธุรกิจใน 8 เดือนแรก ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าจำนวนการจดทะเบียนเลิกใน 8 เดือนแรกของปี 2567 มีสัดส่วนที่น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ที่มีสัดส่วน 17.82%  ของการจัดตั้งธุรกิจ

ขณะที่ 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม 2567) มีการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบ ธุรกิจในประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 535 ราย  แบ่งเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 143 ราย และการขอ หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือ ความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 392 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 100,062 ล้านบาท โดยมี นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามา ลงทุน 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 136 ราย เงินลงทุน 53,176 ล้านบาท, สิงคโปร์ 82 ราย เงินลงทุน 8,438 ล้านบาท  และ สหรัฐอเมริกา 76 ราย เงินลงทุน 3,589 ล้านบาท

นางอรมน กล่าวอีกว่า กรมฯได้วิเคราะห์รายธุรกิจในเชิงลึกพบว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา “ธุรกิจร้านอาหาร” มีแนวโน้มการเติบโตแบบก้าวกระโดด ภายหลังจากผ่านช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 พบการจัดตั้งธุรกิจและทุนจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้น ในปี 2566 มีการจัดตั้งธุรกิจ 4,017 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 996 ราย คิดเป็น 32.97% ทุนจดทะเบียน 8,078.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 1,490.29 ล้านบาท คิดเป็น 22.62%

โดย 8 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) มีธุรกิจร้านอาหารที่จัดตั้งใหม่ 2,847 ราย มูลค่าทุน 5,826.03 ล้านบาท นิติบุคคลที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 44,508 ราย มูลค่าทุน 220,916.70 ล้านบาท เป็น ธุรกิจขนาดเล็ก S จำนวน 43,874 ราย คิดเป็น 98.58% ธุรกิจขนาดกลาง M จำนวน 521 ราย คิดเป็น 1.17% และ ธุรกิจขนาดใหญ่ L จำนวน 113 ราย คิดเป็น 0.25% โดยส่วนใหญ่แล้วจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทจำกัด รองลงมาคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลและบริษัทมหาชน จำกัด ตามลำดับ และมีที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครมากที่สุด (เขตวัฒนา บางรัก และคลองเตย) รองลงมาตั้งอยู่ในภาคใต้ (ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และกระบี่) และภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง และตราด)

ทั้งนี้ โดย 3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ในปี 2564 มีรายได้179,645.68 ล้านบาท ปี 2565 มีรายได้ 244,412.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.05% และ ปี 2566 มีรายได้ 306,618.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.45%

ส่วนการลงทุนของต่างชาติในธุรกิจร้านอาหาร พบว่า มูลค่าลงทุนของต่างชาติอยู่ที่ 29,071.35 ล้านบาท ประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 6,075.23 ล้านบาท คิดเป็น 20.90%, ญี่ปุ่น 3,162.46 ล้านบาท คิดเป็น 10.88%, จีน 2,326.24 ล้านบาท คิดเป็น 8.00%, อินเดีย 2,168.02 ล้านบาท คิดเป็น 7.46% และ ฝรั่งเศส 1,607.03 ล้านบาท คิดเป็น 5.53%

สำหรับแนวทาง การติดตามและตรวจสอบการเข้ามาทำธุรกิจต่างชาติตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว นั้น หลังจากหลายฝ่ายมีความกังวลใจเกี่ยวกับ การเข้ามาทำธุรกิจร้านอาหาร ท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ นั้น กรมฯได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการตรวจสอบกลั่นกรองในหลายๆด้านแล้ว โดยจำนวนที่เข้าตรวจสอบธุรกิจมีมากกว่า 20,000 รายและได้ตรวจเช็คในเชิงลึกแล้ว เหลือเพียงกว่า 64 ราย แม้จะมีสัดส่วนการถือหุ้นคนไทยร้อยละ 51 คนต่างด้าวร้อยละ 49 เป็นไปตามกฎหมายกำหนด แต่เพื่อให้เกิดความสิ้นสงสัย จึงได้ให้ธุรกิจเหล่านี้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้กรมฯได้ตรวจสอบ และเห็นว่ามีบางรายยังไม่ยอมส่งเอกสารข้อมูลด้านบัญชีธุรกิจให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจ

ดังนั้น กรมฯจึงได้จัดส่งข้อมูลบริษัทเหล่านี้ส่งต่อให้กรมสรรพากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตรวจสอบแล้วในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมไปถึงธุรกิจร้านโชห่วยหรือผู้ประกอบธุรกิจซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มองว่าเป็นชาวต่างชาติที่นำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายให้คนไทยและมีการพูดถึงเข้าข่ายเป็นนอมินีด้วยหรือนั้น โดยกรมฯมีเป้าหมายจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะออกตรวจเช็คกันต่อไป

นอกจากนี้ ยังร่วมไปถึงที่ได้รับการร้องเรียนมีกลุ่มต่างชาติเข้ามาขายสินค้าและอาหารตามสถานทีต่างๆ ที่บางครั้งถูกมองว่าเป็นการ “แย่งอาชีพ” ค้าขายของคนไทย นั้น แม้กลุ่มเหล่านี้ไม่เข้าข่ายตามกฎหมายต่างด้าวของกระทรวงพาณิชย์ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการเมื่อพบเห็นชาวต่างชาติที่ทำในลักษณะดังกล่าวจะถูกดำเนินการทางกฎหมายด้านแรงงานข้ามชาติที่กระทรวงแรงงานดูแลอยู่แล้ว และเพื่อให้ง่ายต่อการประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องกฎหมาย ทางกรมฯได้แนะนำให้ผู้ที่จะทำธุรกิจรายย่อยจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ในแหล่งพื้นที่ต่างๆอย่างถูกต้องเสียก่อน หากไม่ดำเนินหรือทำผิดกฎหมายใดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะดำเนินการกับชาวต่างชาติที่ทำผิดกฎหมายไทยได้ทันที.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password