‘วันนอร์’ ชี้ ‘ศาลเมืองนราฯ’ มีอำนาจ ไม่ต้องขออนุญาตสภาฯ จับ ‘พิศาล’ จำเลยคดีตากใบ

ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับหนังสือศาลยุติธรรมขอตัว “พล.อ.พิศาล”ไปดำเนินคดีตากใบแล้ว ชี้รัฐธรรมนูญปี 2560 เปิดช่อง ให้ศาลไม่ต้องขออนุญาตสภา สามารถเรียกตัว-จับกุมได้เลย ขณะที่ผบ.กกล.ตร.จชต. เรียกฝ่ายกฎหมายถกรับมือคดีตากใบส่อหมดอายุ หลังยังไม่ออกหมายจับผู้ต้องหา

วันที่ 19 ก.ย.2567 ที่ รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) อดีตแม่ทัพภาค 4 จำเลยในคดีตากใบ ถูกศาลจังหวัดนราธิวาส มีหนังสือด่วนที่สุดเพื่อขอตัวไปดำเนินคดี ว่า ได้สอบถามจากเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และได้รับรายงานว่า พล.อ.พิศาล มีใบลาการประชุม โดยให้เหตุผลว่าป่วย ซึ่งคงจะมีใบรับรองแพทย์มาด้วย แต่ขณะนี้สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ส่งหนังสือ ขออนุญาตจับกุม พล.อ.พิศาล ในระหว่างสมัยประชุม เพื่อขอตัวไปดำเนินคดีได้ แต่เรากำลังพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่มี 4 วรรค ซึ่งเพิ่มเติมวรรคที่ 4 ว่า ในสมัยประชุม หรือนอกสมัยประชุม ถ้าศาลจะดำเนินคดี ต่อสมาชิกรัฐสภา สามารถจะดำเนินคดีได้ ซึ่งหมายความว่า ไม่ขออนุญาต ก็สามารถดำเนินคดีได้

“ในเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ บันทึกไว้ว่า เดิมเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 125 นั้น เพื่อคุ้มครองสมาชิกรัฐสภาไม่ให้ถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจ เพื่อให้เขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 เพิ่มเติม วรรค 4 ว่า ต้องให้ศาลมีอำนาจด้วยไม่ใช่สภาฯเท่านั้น ที่จะมีอำนาจ อนุญาตหรือไม่อนุญาต จึงถือว่า ไม่ต้องขออนุญาตสภาฯ ก็ดำเนินคดีได้ โดยไม่มีผลกระทบ ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา เช่น วันประชุม มาประชุมได้ แต่ถ้าไม่มาประชุม ศาลสามารถดำเนินการเรียกไปศาลได้ หรือถ้าไม่ไป ก็สามารถจับกุมได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเมื่อศาลมีหนังสือมายังสภาฯ ผมได้ให้ฝ่ายกฎหมายดู ซึ่งสภาฯจะดำเนินการโดยด่วนต่อไป” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

วันเดียวกัน ที่กองกำลังตำรวจตระเวนชายแดน จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา พล.ต.ต.นิตินัย หลังยาหน่าย รองผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึง การประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังศาลออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีตากใบ ว่า ยอมรับว่าส่งผลลบต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่ที่มีการไปฟ้องร้องต่อศาล ในขณะเดียวกันเขาก็ได้มีการสอบถามความคืบหน้าการดำเนินคดี ไปที่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งที่ผ่านมา มีการเยียวยากันครบหมดแล้ว แต่เมื่อคดีใกล้หมดอายุความก็ถูกสะกิดขึ้นมา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้มาตรวจสอบ พบว่าไม่เป็นไปตามขั้นตอน ก็มารับสำนวนดำเนินคดีไป ประมาณ 8-9 คน ก่อนจะเป็นที่มาของคำสั่งฟ้อง ซึ่งเป็นไปตามครรลองของข้อกฎหมาย ไม่สามารถก้าวล่วงได้ ตั้งแต่เริ่มที่เขาได้ไปแจ้งความและไปฟ้องร้อง ผลลบจะมีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งต้องยอมรับว่าอาจจะไม่สมบูรณ์.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password