‘พิชัย’ เปิด 10 นโยบายพาณิชย์ ‘สานต่องานเดิม – เพิ่มเติมอีก 3’ – จ่อถก ธปท. แก้ปม ‘ดบ.- ค่าเงิน – เติมทุน’

รัฐมนตรีพาณิชย์ เปิด 10 นโยบาย “สานต่องานเดิม – เพิ่ม 3 นโยบายใหม่” จ่อนัดถกด่วน! ร่วมแบงก์ชาติ หวังให้เร่งพิจารณา 3 เงื่อนไขช่วยผู้ส่งออก “ดอกเบี้ย – ค่าเงินบาท – จัดหาแหล่งเงินช่วย SME”

นายพิชัย นริพทะพันธุ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังมอบนโยบายให้กับผู้บริหารกระทรวงฯ โดยยังส่วนใหญ่ยังคงสานต่อแนวนโยบายของ รองนายกฯ “ภูมิธรรม เวชยชัย” และได้เพิ่มอีก 3 นโยบาย นำนักธุรกิจไทยไปบุกตลาดใหม่ ปรับโครงสร้างการส่งออก และส่งเสริมผู้ประกอบการ มุ่งสู่ตลาดสินค้าสิ่งแวดล้อม

ทั้งนีั ได้ให้นโยบาย 10 ข้อ ซึ่งนโยบายบายหลักๆ ยังคงสานต่องานเดิม 7 ข้อ เริ่มตั้งแต่ การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส การสร้างความสมดุลระหว่างผู้บริโภค – ผู้ประกอบการ และเกษตรกร การทำงานเชิงรุก ระหว่างพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิการผลักดันการส่งออกสินค้าไทย ปรับปรุงกฎหมายล้าสมัย การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจฐานราก การผลักดันการส่งออก  และส่งเสริมการใช้ประโยชย์จาก FTA

ส่วนอีก 3 นโยบาย ได้เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ โดย กระทรวงพาณิชย์จะเป็นหน่วยสนับสนุนให้นักธุรกิจไทย มีความเข้มแข็งและมีความสามารถในการออกไปขยายธุรกิจในต่างประเทศ  รวมทั้งการปรับโครงสร้างการส่งออกให้ทันสมัย เพราะการแข่งขันภาคส่งออกไทยลดลงเรื่อยๆ ด้วยการสร้างให้เกิดการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ และการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงตลาดรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้ทันกับเทรนของโลก

สำหรับ งานเร่งด่วนที่จะเห็นชัดเจนภายในปีนี้ คือ การเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่น่าจะได้ข้อสรุป FTA ฉบับใหม่ๆ  ซึ่งตนเอง จะเริ่มเดินทางร่วมประชุมในเวทีต่างๆ ทันที โดยพรุ่งนี้ (17 ก.ย.) จะไป นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เพื่อ ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers’ Meeting: AEM) ครั้งที่ 56 และ การประชุมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา อีกทั้งในสัปดาห์ต่อไป จะเดินทางไปประเทศอังกฤษเพื่อโปรโมทสินค้าไทย  ถือเป็นการทำงานหนักในภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ดีมากนัก เพื่อฟื้นเศรษฐกิจไทย และผลักดันการส่งออกให้โตได้ดีกว่าเป้าหมาย 1-2%

รมว.พาณิชย์ ระบุว่า ยังมีประเด็นที่ภาคเอกชนส่งออกกำลังประสบปัญหาคือ เรื่องของเงินบาทแข็งค่า ซึ่งได้ส่งสัญญาณให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งแก้ไขสถานการณ์ เพราะผู้ส่งออกได้รับผลกระทบหนักมาก ทั้งนี้ ตนไม่ได้มีปัญหากับธปท. แต่ต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทไทยขณะนี้ไม่สอดคล้องกับประเทศคู่แข่ง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น โตเพียง 1.9% ดังนั้น ธปท. จึงควรเข้ามาช่วยหาวิธีให้สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นด้วย โดยไม่ควรทำหน้าที่เป็นเพียงแค่หน่วยงานกำกับดูแลเท่านั้น แต่ต้องหน้าที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วย เพราะนโยบายทางการเงินสำคัญกว่านโยบายทางการคลัง และธปท.ถือเป็นหน่วยงานที่ดูแล ทั้งอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะมีผลทันที โดยเฉพาะต่อภาคการส่งออก

“กับ ธปท. มี 3 ข้อเสนอให้พิจารณา คือ การเร่งลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ข้อสอง อยากให้ดูค่าเงินบาทไทย ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะขณะนี้ เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นมากกว่า 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 1 เดือน แข็งค่าประมาณ 5-6% ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกสินค้า และต้องหาแนวทางช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการกลุ่ม Sme เข้าถึงแหล่งเงินกู้ง่ายขึ้น” นายพิชัย ย้ำและว่า หลังจากนี้ อาจจะมีการนัดหารือกับ ธปท. เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง และการเพิ่มทุนเพื่อช่วยผู้ประกอบการไทย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password