‘ราเกซ สักเสนา’ เจ้าของฉายา ‘พ่อมดการเงิน’ พ้นโทษ บก.ปอศ.ผลักดันออกนอกประเทศ

“ราเกซ สักเสนา” ได้รับพระราชทานอภัยโทษ พ้นโทษแล้ว ผลักดันออกนอกประเทศ ปิดฉากตำนาน “พ่อมดการเงิน” ผู้สร้างความเสียหายกว่า 80,000 ล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2567 ตำรวจกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ได้ไปรับตัว นายราเกซ สักเสนา (Rakesh Saxena) เจ้าของฉายา “พ่อมดการเงิน” สัญชาติอินเดีย ผู้ต้องขังในคดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ (บีบีซี) ออกจากเรือนจำ เพื่อผลักดันออกนอกประเทศ

หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฏาคม 2567 โดยได้ส่งตัวนายราเกซไปยังกองกำกับการ 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (บก.สส.สตม.) เพื่อดำเนินการผลักดันออกนอกประเทศตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ต่อไป





นับเป็นการปิดฉากชีวิตพ่อมดการเงินในประเทศไทย จากการปล่อยสินเชื่อให้แก่นักธุรกิจและนักการเมืองเพื่อเข้าเทกโอเวอร์บริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีกำไรจากการซื้อมา-ขายไป จนเกิดหนี้เน่ามากกว่า 80,000 ล้านบาท และเป็นต้นเหตุที่ทำให้บีบีซีปิดกิจการ

สำหรับนายราเกซ สักเสนา เป็นชาวเมืองอินดอร์ รัฐมัธยประเทศ อดีตโบรกเกอร์ค้าเงิน เป็นผู้ต้องขังคดีหมายเลขแดงที่ อ 4138/2559 ในความผิดฐานพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีซี ระหว่างปี 2537-2539 ขณะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งขณะนั้นคือนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์

โดยกระทำการทุจริตอนุมัติวงเงินสินเชื่อเกินบัญชี (โอดี) กับ บริษัท สมประสงค์ อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และเอกชนอื่นร่วม 10 แห่ง เกินกว่า 30 ล้านบาท โดยไม่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการสินเชื่อ หรือคณะกรรมการบริหารของธนาคารก่อน อีกทั้งไม่ได้จัดให้มีหลักประกัน ไม่มีการวิเคราะห์ฐานะของลูกหนี้ และความสามารถในการชำระหนี้คืน อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ จำเลยและพวกยังได้ร่วมกันแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ร่วมกันเบียดบังเอาเงินของธนาคารผู้เสียหาย (บีบีซี) ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายเกริกเกียรติ ไปเป็นของจำเลยกับพวกและนายเกริกเกียรติโดยทุจริต แม้ภายหลังจำเลยกับพวกได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายบางส่วน แต่คงเหลือเงินที่ยังไม่ได้คืนผู้เสียหาย 353,363,966 บาท

คดีนี้ต่อสู้กันสามศาล ในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 จำคุกกระทงละ 5 ปี และปรับกระทงละ 500,000 บาท โดยมีสำนวนแรก 60 กระทง สำนวนที่สอง 6 กระทง และสำนวนที่สาม 1 กระทง รวม 67 กระทง รวมจำคุก 335 ปี และปรับ 33,500,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 20 ปี และสั่งคืนเงินผู้เสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้นายราเกซหลบหนีคดีไปยังประเทศแคนาดา ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2539 แม้ทางการไทยได้ประสานงานกับแคนาดาขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แต่นายราเกซได้ให้ทนายความยื่นคัดค้าน ใช้ระยะเวลาพิจารณาถึง 13 ปี กระทั่งวันที่ 29 ต.ค. 2552 ศาลฎีกาแคนาดามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา และส่งตัวมาถึงประเทศไทยด้วยเที่ยวบิน TG 615 เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2552 ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาเมื่อปี 2555 จำคุกนายราเกซ 10 ปี และต่อสู้คดีเรื่อยมา กระทั่งคดีถึงที่สุดเมื่อปี 2565 รวมระยะเวลาที่รับโทษในประเทศไทย 15 ปี.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password