“เรืองไกร” ร้อง กกต.สอบ “อิ๊งค์” ตั้ง “สหายใหญ่” เป็นรมต.กลาโหม ต้องพ้นจากตำแหน่ง
“เรืองไกร” ร้อง กกต.สอบนายกฯ ตั้ง “ภูมิธรรม” อดีตสหายใหญ่ นั่ง รมว.กลาโหม จะทำให้ “อุ๊งอิ๊ง” พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ชี้ จะอ้างว่าไม่รู้ประวัติคนที่แต่งตั้งไม่ได้ เพราะเคยร่วมล้มล้างการปกครองระบอบ ปชต.
วันที่ 8 ก.ย.2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า กรณีเสนอชื่อ นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) หรือไม่ และ การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่ และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170(4) ประกอบมาตรา 160(4) (5) หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า การที่นายกฯเลือกนายภูมิธรรม ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งก่อนและหลังการแต่งตั้ง ตามที่ข่าวปรากฏในสื่อทั่วไป จนนายภูมิธรรม ขออย่ารื้อฟื้นอดีตสมัยเข้าป่า และบอกว่า จำภาพสหายใหญ่เมื่อ 50 ปี ไม่ได้ นอกจากนี้ นายภูมิธรรม ยังให้สัมภาษณ์ว่า “เหตุผลอะไรที่นายกฯให้มานั่งในตำแหน่ง รมว.กลาโหม นั้น ต้องไปถามนายกฯ เอง”
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยที่ 21/2567 แล้ว คำวินิจฉัยคดีนี้ทำให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีทั้งสิ้น 29 หน้า โดยมีบางตอนตั้งแต่หน้า 17-28 ได้ตีความเกี่ยวกับเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(4) และการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 ที่นำไปสู่การวินิจฉัยเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(5) ไว้เป็นแนวบรรทัดฐาน
นายกฯเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในฝ่ายบริหารทุกการตัดสินใจมีผลกระทบต่อบ้านเมือง จึงต้องมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำ ประกอบกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจต่อสาธารณชน เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดในลักษณะภววิสัย ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่จะต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ วุฒิการศึกษา หรือประสบการณ์โดยเฉพาะ เพียงความตระหนักรู้ตามมาตรฐานเยี่ยงวิญญูชนหรือบุคคลทั่วไปในสังคมก็เพียงพอต่อการวินิจฉัยได้แล้ว
การที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นรัฐมนตรีมิได้อาศัยเฉพาะแต่เพียงความไว้วางใจส่วนตนโดยแท้ เพราะนอกจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจะต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในรูปแบบรัฐสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีซึ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแต่ละคนต้องได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากสาธารณชน หรือประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง อันเป็นความเชื่อถือและไว้วางใจในทางความเป็นจริงด้วย ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจต่อสาธารณชนไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่จะต้องอาศัยความรู้ความชำนาญ วุฒิการศึกษา หรือประสบการณ์โดยเฉพาะ เพียงความตระหนักรู้ตามมาตรฐานเยี่ยงวิญญูชนหรือบุคคลทั่วไปในสังคมก็เพียงพอต่อการวินิจฉัยได้แล้ว
นายเรืองไกร กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงตามข่าวต่างๆ ซึ่งเผยแพร่โดยทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย ดังนั้น น.ส.แพทองธาร ในฐานะนายกฯจะปฏิเสธว่าไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของนายภูมิธรรม ดังกล่าว ย่อมมิอาจรับฟังได้ อีกทั้ง นายภูมิธรรม ก็ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า “เหตุผลอะไรที่นายกฯ ให้มานั่งในตำแหน่ง รมว.กลาโหม นายภูมิธรรม กล่าวว่า ต้องไปถามนายกฯ เอง”
นายเรืองไกร กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าว น.ส.แพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องรู้หรือควรรู้ประวัติของนายภูมิธรรม ซึ่งเป็นคนของพรรคเพื่อไทย เคยมีชื่อสหายใหญ่ ซึ่งตามข่าวที่ปรากฏโดยทั่วไป สหายใหญ่ เคยร่วมกระทำการในลักษณะที่อาจจะเข้าข่ายเป็นการล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่อาจยกเลิกเพิกถอนได้ ประกอบกับต้องรู้ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีด้วย ดังนั้น การที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี เสนอชื่อนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต.ตรวจสอบว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี มีเหตุสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170(4) ประกอบมาตรา 160(4) (5) หรือไม่