สบน.ชี้! นักลงทุนสถาบันจองเกิน 6 เท่า ซื้อ พธบ.ยั่งยืน ‘1 พันล.’ ของ กฟภ.
ผอ. สบน. เผย! นักลงทุนสถาบันแห่งจองซื้อพันธบัตรยั่งยืนของ กฟภ. 1/2567 เกินยอดจริงถึง 6 เท่า ระบุ! กฟภ. นำยอดเงิน 1,000 ล้านบาท ที่ได้จากพันธบัตรอายุ 5 ปี กำหนดดอกเบี้ย 2.65% ไปลงทุน 2 โครงการที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน “ก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า – พัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก บนพื้นที่เกาะพะลวย” จ. สุราษฎร์ธานี หวังใช้เป็นต้นแบบให้เพื่อนรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานไฟฟ้า
นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการจัดหาเงินกู้ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของ กฟภ. พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 วงเงิน 1,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 5 ปี (PEA298A) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.67 ต่อปี กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน เสนอขายผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investor : II) ภายใต้ Sustainable Finance Framework ซึ่ง ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เป็นที่ปรึกษาการจัดทำและให้การรับรองการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน โดย DNV (Thailand) Co.,Ltd. เป็นผู้สอบทานภายนอกอิสระ (Second Party Opinion) ตามมาตรฐานด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ทั้งนี้ กฟภ. เป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานแห่งแรกที่จัดทำ Framework สอดคล้องตามมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของอาเซียน (ASEAN Taxonomy)
การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของ กฟภ. ในครั้งนี้ กฟภ. จะนำเงินที่ได้มาลงทุนในโครงการที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จ. สุราษฎร์ธานี และโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Micro Grid)บนพื้นที่เกาะพะลวย จ. สุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับความสนใจจาก นักลงทุนกลุ่มสถาบันการเงิน บริษัทประกัน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และสำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีวงเงินสูงกว่าวงเงินที่ออกจำหน่ายถึง 6 เท่า (BCR = 6 เท่า) โดยมี ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการจัดจำหน่ายพันธบัตรดังกล่าว และการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของ กฟภ. ในครั้งนี้จะเป็นต้นแบบของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานไฟฟ้าในการระดมทุนสำหรับโครงการที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะขอขอบคุณนักลงทุนที่ให้ความสนใจร่วมลงทุนในพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของ กฟภ. และพร้อมที่จะสนับสนุนรัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมในการระดมทุนเพื่อลงทุนในโครงการที่สอดรับกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พันธบัตรเพื่อสังคม และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาตลาดตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการตอบรับและสนับสนุนอย่างดีจากผู้ร่วมตลาดในระยะต่อไป” ผอ. สบน. ระบุ
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามแผนการออกพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังจัดหาได้จากเว็บไซต์สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (www.pdmo.go.th).