มติครม.ตรึงค่าไฟฟ้า 4.18 บาทถึงสิ้นปี คงเพดานน้ำมันดีเซล 33 บาทถึง 31 ตค.
ครม.เห็นชอบตรึงราคาค่าไฟฟ้า 4.18 บาท ต่อ หน่วย จนถึงสิ้นปีและตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตร 33 บาท จนถึง 31 ต.ค. พร้อมเผยร่างกฎหมายแก้ไขโครงสร้างพลังงานใหม่
วันที่ 23 ก.ค.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมครม.ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการตรึงค่าไฟเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2567 เฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ในอัตรา 3.99 บาท/หน่วย ส่วนประชาชนที่ใช้ไฟเกิน 300 หน่วย/เดือนขึ้นไปเรียกเก็บในอัตราคงเดิมที่ 4.18 บาท/หน่วย
โดยให้แบ่งทยอยชำระเงินคืนหนี้ภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นงวดๆ ต่อไป เนื่องจากกระทรวงพลังงานเห็นว่าการจ่ายชำระคืนหนี้ให้ กฟผ. งวดเดียว แล้วให้ประชาชนแบกภาระหนี้ด้วยการจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการตรึงเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร ไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.2567 ตามความสามารถของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากปัจจุบันกำหนดไว้จะสิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค.นี้
ตนไม่พอใจกลไกน้ำมันบ้านเราทุกวันนี้ ที่ปล่อยให้เป็นแบบนี้ ไม่เคยมีใครคิดจะแก้ไขระบบนี้ที่ใช้มานานตั้งแต่พวกท่านยังไม่เกิด ถึงขั้นตอนแรกยังไม่รู้เลยว่าต้นทุนน้ำมันเท่าไหร่ ขนาดจะขึ้นมาม่ายังต้องรู้ต้นทุน แต่นี่น้ำมันที่มีผลกระทบต่อชีวิตประชาชน ต่อระบบเศรษฐกิจ แต่กลับไม่มีกฎหมายควบคุมเลย
ตอนนี้ตนกำลังดำเนินการอยู่ โดยการร่างกฎหมายเอง แก้ไขโครงสร้างพลังงานใหม่ที่มีมาแล้วกว่า 40-50 ปี โดยกฎหมายใหม่ไม่ขัดผลประโยชน์ใคร แต่หากกฎหมายใหม่ไม่ทัน จะมีมาตรการอื่นมาแก้ปัญหาไปพรางก่อน ขณะนี้ต้นฉบับเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างให้ทีมกฎหมายตรวจสอบ ก่อนส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยพิจารณา เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันในประเทศที่ขึ้นลงอยู่ทุกวันนี้
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่าความจริงเนื้อน้ำมันของไทยอยู่ที่ประมาณ 20 บาทกว่า/ลิตร ไม่ต่างจากราคาน้ำมันในประเทศมากนัก แต่สาเหตุที่ราคาน้ำมันในประเทศไทยสูงถึง 38-40 บาท/ลิตร เพราะน้ำมันของไทยมีส่วนผสมของไบโอดีเซลและเอทานอล ซึ่งในอดีตมีราคาถูกกว่าน้ำมัน แต่ปัจจุบันทั้งไบโอดีเซลและเอทานอลราคาแพงกว่าน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันของไทยแพงกว่าต่างประเทศ
ประกอบกับภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากน้ำมันดีเซลของไทยอยู่ในอัตรา 5.99 บาท/ลิตร สูงกว่าประเทศสิงโปร์ที่เรียกเก็บภาษีในอัตรา 5.54 บาท/ลิตร และประเทศเวียดนามเรียกเก็บภาษีในอัตรา 1.70 บาท/ลิตร เป็นต้น
ขณะที่ สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 14 ก.ค.2567 ติดลบ 111,855 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 64,252 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวติดลบ 47,603 ล้านบาท.