จับสัญญาณ! การเมืองภาพใหญ่ หลัง ‘ค่ายสีน้ำเงิน’ ประกาศศักดา ยึด “สภาสูง”
ผ่านไปแล้ววันคืนยาวนานกับการเลือก “สว.” หรือ สมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ ด้วยกติกา “เลือกกันเอง” ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เมื่อ 26 มิ.ย. 67 ที่ ศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม อาคาร 4 เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ในที่สุดเราก็ได้เห็นโฉมหน้า “ว่าที่ สว.” จำนวน 200 คน
ปรากฏว่า “สว.สายสีน้ำเงิน” พาเหรดเข้ากุมเสียงข้างมากถึง 123 คน คิดเป็นร้อยละ 61.50 “สว.สายสีส้ม” 18 คน คิดเป็นร้อยละ 9.00 “สว.สายสีแดง” 12 คน คิดเป็นร้อยละ 6.00 “สว.สายนายทุน” 8 คน คิดเป็นร้อยละ 4.00 “สว.สายเขียวในบ้านป่า” 7 คน คิดเป็นร้อยละ 3.50 และ สว.สายอื่นๆ 32 คน คิดเป็นร้อยละ 16.00
ที่สำคัญ ปรากฏว่าเกิดการพลิกโผครั้งใหญ่ เมื่อ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี น้องเขย ทักษิณ ชินวัตร ที่มีกระแสข่าวเป็นตัวเต็งนั่งเก้าอี้ “ประธานวุฒิสภา” กลับตกรอบ ไปไม่ถึงฝัน!
นักวิเคราะห์การเมือง ที่ยืนดูอยู่ข้างสนาม มองว่า เป็นการตบหน้า สั่งสอน จาก “ค่ายสีน้ำเงิน” เอาคืน “สีแดง” จากนโยบาย “กัญชา” ซึ่ง สมัย อนุทิน ชาญวีรกูล เป็น รมว.สาธารณสุข ดึงออกมาพ้น“ยาเสพติด” แต่มาในยุค ที่มี สมศักดิ์ เทพสุทิน จากค่ายสีแดง เป็น รมว.สาธารณสุข กลับ เอาเข้าไปอยู่ในจุดเดิม
แน่นอน ผลการเลือกตั้ง สว.ที่ออกมา ย่อมกระทบต่อการเมืองภาพใหญ่ อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ไม่ว่าจะเป็น การคัดเลือกองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่ง ตามรัฐธรรมนูญปี 60 ระบุว่า ต้องได้รับการรับรอง จาก สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.ชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) , คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ลองนึกภาพดู หาก องค์การอิสระเหล่านี้ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน ถูกครอบงำ โดย สว.ชุดนี้ อะไรจะเกิดขึ้น ทั้งการจับทุจริต โกงเลือกตั้ง , งบประมาณแผ่นดิน, กลั่นแกล้งคู่แข่งทางการเมือง ฯลฯ
ภารกิจที่สำคัญ ต้องใช้ คนขับรถพ่อนักการเมืองใหญ่ที่ บุรีรัมย์ ซึ่งจบป.7 หรือ ช่างเสริมสวย คนที่ส่งเสียงตามสายในหมู่บ้าน ร่วมตัดสินใจ
หลายคนระเบิดอารมณ์อย่างแรงๆว่ามันช่าง “เลอะเทอะ และ เละเทะ” สิ้นดี !!
หทัยรัตน์ พหลทัพ บก.บห. เดอะอีสานเรคคอร์ด หนึ่งในผู้สมัคร สว. กลุ่มสื่อมวลชน เปิดเผยหลังตกรอบว่า ระบบนี้เอื้อต่อการฮั้วคะแนน จากที่สัมผัสเอง ตั้งแต่ขั้นตอนรอบอำเภอ และรอบจังหวัด มีความพยายาม “ล็อก” โดย เสนอสินจ้างให้ ตน 1-3 แสนบาท เพื่อให้เข้าไปอยู่ในก๊วนการเมือง “กระบวนการวันนี้ทำให้เราเห็นว่าบ้านใหญ่น่าจะฮุบ สว. เท่าที่ทราบมี 6 กลุ่มใหญ่ๆ และเป็นพรรคการเมือง อันดับ 2 และ 3”
ขั้นตอนต่อไป เมื่อ “สว.สายสีน้ำเงิน” ครองเสียงข้างมาก การเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง “ประธานวุฒิสภา” จึงต้องยึดมาให้ได้ ซึ่งคาดว่าจะกินรวบเก้าอี้ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1ด้วย ส่วน รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 อาจจะให้ค่ายสีอื่นแบ่งปันกันไป
โดย แคนดิเดต”ประธานวุฒิสภา” คนใหม่ ชื่อของ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ โผล่ขึ้นมาเป็นเต็งหนึ่ง โดยเจ้าตัวเพิ่งเกษียณจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา
ที่สำคัญเป็นเพื่อนร่วมรุ่นหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 61 กับ อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ทำให้ทั้ง “บิ๊กเกรียง-อนุทิน” สนิทสนมกันมาก
นักวิชาการด้านการเมือง อย่าง รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย บอกว่า นี่เป็นการยึดสภาสูงอย่างเบ็ดเสร็จของค่าย “สีน้ำเงิน” โดยผลจากการเลือก สว. ครั้งนี้ มีต่อการเมืองภาพใหญ่แน่นอน
“คนทำดีต้องมีรางวัล วันนี้พรรคภูมิใจไทย ถูกยกระดับจะมาแทนพรรคเพื่อไทยแล้วในปีกอนุรักษ์นิย ที่เคยบ่นว่าทำไมต้องใช้บริการ “ทักษิณ” วันนี้ “อนุทิน” มาแล้วครับ แล้วคิดดูว่าน่าไว้วางใจกว่าหรือไม่ สมมุติตัวเต็งที่ผมมองอย่าง พล.อ.เกรียงไกร มาเป็นประธานวุฒิสภา ถามว่าฝ่ายความมั่นคงสบายใจไหม สบายใจ ทหารก็ไม่เหนื่อยที่จะต้องมาถูกข่าวปั่นเรื่องปฏิวัติ เพราะ สว. สีไหน องค์กรอิสระก็สีนั้น จะกำกับพฤติกรรม ก็ใช้องค์กรอิสระได้ ไม่เห็นจำเป็นต้องรัฐประหารเลย บ้านเมืองก็เดินหน้าได้ ท่านว่าที่ประธานฯ คือนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ อดีตผบ.ทบ. ต้องถามไหมว่าคือใคร เพราะฉะนั้นความไว้วางใจมันมากมายหลายเท่า แล้วคุณอนุทิน ก็ออร่าโดดเด่นเป็นประกายในช่วง 2 สัปดาห์นี้ แล้วนักเลือกตั้งมองไม่ออกเหรอว่าควรฝากอนาคตไว้กับพรรคไหน” รศ.ดร.ธนพร กล่าว
ขณะที่ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองผลที่ออกมาเห็น “ว่าที่ สว.” มาจาก “สีน้ำเงิน” จุดสังเกตคือคะแนนที่เกาะกลุ่มกัน 6-7 อันดับแรกในแต่ละกลุ่ม ซึ่งภาพตรงนี้ชัดมากทั้ง 20 กลุ่มอาชีพ
” สีน้ำเงินได้เยอะจนตกใจตัวเอง จากประมาณที่เล็งไว้อาจกะไว้ที่ 100 แต่ว่าคู่แข่งอ่อนเกิน จนเขาได้เกิน มีหลายคนที่เราไปสังเกตว่าเขาไม่ค่อยมีคุณสมบัติเหมาะสมเท่าไหร่ได้เข้ามา คือพวกนั้นเขาไม่ได้กะมาเท่าไหร่ มันเป็นของแถม แต่ด้วยความคู่แข่งอ่อนหัดเกินไปเขาก็เลยหลุดเข้ามาด้วย 6-7 อันดับที่ได้คะแนนระดับ 50 ขึ้นไป มันร่วงลงมาที่ 20 กว่าคะแนน นี่คือสายสีส้มเพราะว่าแพ็คกันได้แค่นี้ เกาะเข้ามาที่ 7-9 ส่วนพวกหลุดจากนี้ได้คะแนน 10 กว่า คือสีแดง สีม่วง สีฟ้า หลุดมาบ้างที่ 9-10 สำรอง แพทเทิร์นเห็นอย่างนี้เลย” ดร.สติธร กล่าว
ผลพวงจากการเลือก 200 สว. ชุดนี้ แม้จะไม่มีอำนาจเลือก นายกรัฐมนตรี ได้เหมือนชุดก่อน แต่ทว่า กลับได้เสียงวิพากษ์ วิจารณ์ หนาหู ต่างๆ นานา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลกระทบต่อภาพใหญ่การเมืองไทย !