‘ครม.- ก.คลัง’ ผุดมาตรการภาษี หนุน ‘จัดสัมมนา-การท่องเที่ยว’ กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

“โฆษกคลัง” เผย! มติ ครม.เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ ให้ทั้งนิ ติบุคคลและบุคคลธรรมดา ผ่าน 2 มาตรการสำคัญ คือ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศและเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ ย้ำ! ต้องโชว์ผ่านใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้

  1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร เว้นแต่ค่าขนส่งจะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ ซึ่งจะต้องได้รับใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่
    1.1 สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
    1.2 สามารถหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่นนอกจากท้องที่ตามข้อ 1.1
    1.3 ในกรณีที่การจัดอบรมสัมมนาครั้งหนึ่ง ๆ เกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อ 1.1 และข้อ 1.2 ต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตามข้อ 1.1 หรือข้อ 1.2 แล้วแต่กรณี และให้หักรายจ่ายที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง
    ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
  2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลสามารถนำค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยหรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) ทั้งนี้ จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรด้วย

“มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วง Low Season มากขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศอีกด้วย” โฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password