ผลงาน ‘สหพัฒน์’ ไตรมาส 1 ‘มาม่า-ฟาร์มเฮ้าส์’ กำไรเด่น สิ่งทอ แฟชั่นหืดจับ

“เครือสหพัฒน์” อาณาจักรแสนล้าน ภายใต้การนำ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” มีบริษัทในเครือนับร้อย มีสินค้าหลายแบรนด์ครอบคลุมหลากหมวด เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ขนมปังและเบเกอรี “ฟาร์มเฮ้าส์”

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งทอ สินค้าแฟชั่น แบรนด์ดัง เช่น ลาคอสต์ แอล แอร์โรว์ กีลาโรซ วาโก้ ส่วนสินค้าจำเป็น มีทั้งผงซักฟอกเปา เอสเซนส์, น้ำยาล้างจานไลปอนเอฟ, สินค้าเพื่อสุขภาพ อย่างหน้ากากอนามัยเวลแคร์ เป็นต้น

ผลงานไตรมาส 1 ธุรกิจของเครือสหพัฒน์มีทั้งเติบโตโดดเด่น และยังหืดจับ โดยประกอบการบางส่วนของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) หมวดไหนโตมาก โตน้อย กำไรเด่น กำไรดิ่ง ทว่าเพียง 12 บริษัท สามารถทำรายได้รวมกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิรวมกว่า 2,900 ล้านบาท เจาะลึกแต่ละบริษัท ดังนี้

อาหาร มาม่า-ฟาร์มเฮ้าส์ กำไรเด่น เป็น สินค้าที่อยู่คู่ครัวเรือนไทย และเป็นเบอร์ 1 ยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ ต้องยกให้บะหมี่ฯ “มาม่า” ซึ่งมี บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิต สำหรับผลงานไตรมาส 1 โกยยอดขาย 7,004.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วน “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 1,144.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 42.41%

สถานการณ์ตลาดบะหมี่ฯในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 1.36% แต่ต่างประเทศโตถึง 11.70% เพราะได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาท

กำไรเด่นไม่แพ้กัน คือ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิต “ฟาร์มเฮ้าส์” โดยผลงานไตรมาส 1 ปี 2567 รายได้จากการขาย 1,805.73 ล้านบาท ลดลง 1.15% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 416.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.21% ซึ่งกำไรที่เพิ่ม ส่วนหนึ่งเพราะต้นทุนราคาวัตถุดิบหลักปรับตัวลดลง ส่งผลต่อกำไรขั้นต้นเพิ่มเล็กน้อย

บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) เป็นอีกยักษ์ใหญ่ที่ทำตลาดสินค้าแฟชั่น มีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอล้วนเป็นที่รับรู้ เช่น ชุดชั้นในวาโก้, ลาคอสต์, กีลาโรซ, เอสเซนส์, แอร์โรว์ ฯ ทว่า ไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัททำผลงานยอดขาย 2,158.29 ล้านบาท ลดลง 1.52% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ สินค้าที่ทำเงินสัดส่วนมากสุดไตรมาสแรก ยังเป็นสินค้าเครื่องแต่งกายสุภาพบุรุษ ตามด้วยสินค้าเครื่องแต่งกายสุภาพสตรี กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าอื่นๆ และสินค้าเครื่องสำอางและเครื่องหอม

ด้าน “กำไรสุทธิ” ไตรมาส 1 ทำได้ 63.38 ล้านบาท ลดลง 90.30% หรือจำนวน 592.93 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่เป็นผลพวงจากยอดขายลดลง

โดยเฉพาะ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิตชุดชั้นในวาโก้ และเบอร์ 1 ของตลาด ไตรมาสแรกทำยอดขาย 794.38 ล้านบาท ลดลง 11.91% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ “กำไรสุทธิ” 13.34 ล้านบาท ลดลง 64.13% ผลกระทบมาจากยอดขายในและต่างประเทศหดตัว จึงส่งผลต่อเนื่องถึงการทำกำไร

ขณะที่ บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นสตรีระดับโลก ภายใต้แบรนด์กีลาโรซ จีเอสพี รวมถึงผลิตยูนิฟอร์มแก่ลูกค้าองค์กร ผลงานไตรมาส 1 มีรายได้รวม 66.91 ล้านบาท ลดลง 16.3% ส่วนกำไรสุทธิ 3.8 ล้านบาท ลดลง 78.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นเพราะรายได้จากการการขายและบริการลดลง ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการเพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับ บริษัท นิวซิตี้ (กรุงเทพฯ) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตถุงน่องเชอรีล่อน ชุดออกกำลังกาย ชุดชั้นในและถุงเท้าชายแซนรีโม ฯ มีรายได้จากการขายสินค้า 132.56 ล้านบาท ลดลง 2.71% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และกำไร 8.33 ล้านบาท ลดลง 26.48% ผลกระทบเพราะสินค้ากลุ่มสิ่งทอยอดขายลดลง 8.13% อื่นๆ ลดลง 25.45% แม้เครื่องสำอางจะมียอดขายเพิ่มขึ้น 40.48% แต่ก็ไม่สามารถดึงภาพรวมให้พ้นการหดตัว

เครือสหพัฒน์มีการทรานส์ฟอร์มธุรกิจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการมองหาน่านน้ำใหม่ๆ เป็น New Growth Engines แทนกลุ่มสิ่งทอที่ถือเป็นธุรกิจ Sunset โดยหนึ่งในนั้นคือ บริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน )ที่ผลิตรองเท้าแบรนด์ดัง เผชิญภาวะขาดทุนมาหนักหน่วง ทำให้บริษัทต้องปรับกระบวนท่าเพื่ออยู่รอด

ปัจจุบัน แพนฯ ยังผลิตกระเป๋า “เดย์เบรค”(daybreak) แต่อีกด้านได้ทรานส์ฟอร์มทำธุรกิจเกษตรฟาร์มออแกนิก และมีผลิตภัณฑ์ “WB ORGAIC FARM” ตอบสนองลูกค้าด้วย ในไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัททำยอดขาย จำนวน 486.23 ล้านบาท ลดลง 18.35% เพราะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจรองเท้า แต่กำไรสุทธิ 11.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 456.92%

อีกบริษัทกำไรแกร่งคือ บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน) โดยไตรมาส 1 มีรายได้จากการดำเนินงาน 659 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% มี “กำไรสุทธิ” 123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

บทบาทเดิมของธนูลักษณ์ คือผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องหนังเสิร์ฟกลุ่มเป้าหมาย มีตลาดในประเทศและส่งออก แต่สิ่งทอกลายเป็นธุรกิจอาทิตย์ตกดิน ทำให้บริษัททรานส์ฟอร์มสู่ธุรกิจใหม่ ทั้งธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกัน ให้สินเชื่อแก่กลุ่มลูกค้าบุคคลและองค์กรรายใหญ่ มูลค่าการปล่อยสินเชื่อ 10 ล้านบาทขึ้นไป มีการรุกบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ทั้งหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) รวมถึงพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วย ซึ่งเหล่านี้ถือเป็น New Growth Engines ของบริษัท

บริษัท ทีพีซีเอส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยเวลล์แคร์(Welcare) ที่รู้จักกันอย่างดี และมีการใช้กันมาในช่วงเกิดโรคโควิด-19 ระบาด แต่บริษัทยังมีสินค้าในพอร์ตโฟลิโอมากกว่านั้น เช่น ผลิตภัณฑ์สำหรับรถยนต์ อย่างที่จับเพื่อปรับเบาะนั่ง ผ้าบุหลังคารถ ฯ มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายในบ้าน อย่างหมอนสุขภาพพรีเมียม เป็นต้น

ไตรมาส 1 บริษัททำรายได้รวม 358.16 ล้านบาท ลดลง 21.5% จากยอดขายสินค้ากลุ่มสุขอนามัยลดลง รวมถึงยอดขายต่างประเทศ ที่ลดลง 6.97% เพราะส่งออกไปยังตลาดเอเชียน้อยลง ด้านกำไรสุทธิอยู่ที่ 24.21 ล้านบาท ลดลง 30.46%

ส่วนบริษัทอื่นๆ อย่างบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่ลงทุนในกิจการต่างๆ ผลงานไตรมาสแรกมีรายได้ 443.57 ล้านบาท และ “กำไรสุทธิ” 556.65 ล้านบาท โดยลดลงถึง 46.44% หรือ 482.58 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่บริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งผลิตของใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าสารพัดแบรนด์ป้อนลูกค้ากว่า 50 ประเทศทั่วโลก เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ไตรมาส 1 สร้างรายได้รวม 1,430.99 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 40 ล้านบาท

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password