แพทย์เตือน! ผู้หญิง ‘ปวดท้องน้อย’ อย่าปล่อยผ่าน สัญญาณเตือนโรคช็อกโกแลตซีสต์

เดือนพฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ให้ตระหนักถึงอาการปวดท้องน้อย (MAY is Pelvic Pain Awareness Month) สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงต้องระวัง!! เพราะอาจเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อกโกแลตซีสต์

สาว ๆ เช็กด่วน 4 สัญญาณเตือนอาการที่เสี่ยงเป็นช็อกโกแลตซีสต์ หรือ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ได้แก่ ปวดท้องประจำเดือน ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ ปวดอุ้งเชิงกราน และประสบภาวะมีบุตรยาก หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบมาพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษา หากปล่อยไว้ จะส่งผลต่อสุขภาพและกระทบต่อการใช้ชีวิตได้

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์จัดงานเสวนา “ปวดท้องน้อย อย่าปล่อยผ่าน กับโรคช็อกโกแลตซีสต์” ขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 นำโดย ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย พญ.กตัญญุตา นาคปลัด แพทย์เฉพาะทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มาให้ความรู้ ดำเนินรายการโดย “ดีเจอ้อย” นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล สนับสนุนกิจกรรมเสวนาโดย บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด

ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นภาวะที่เซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตอยู่นอกโพรงมดลูก มักพบบริเวณอุ้งเชิงกราน เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ เยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกราน หรืออาจแทรกอยู่ในกล้ามเนื้อมดลูกในลำไส้ หรือที่ปอด ในแต่ละรอบเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดออกจากโพรงมดลูกเป็นประจำเดือน แต่เมื่อเยื่อบุเหล่านี้ไปเจริญเติบโตอยู่ผิดที่ เมื่อหลุดลอกออกก็จะไหลย้อนกลับเข้าสู่ช่องท้องทางท่อนำไข่ มีการสร้างเลือดตามรอบเดือนปกติ ทำให้มีเลือดสีแดงคล้ำหรือสีดำข้นสะสมจนกลายเป็นโรคที่รู้จักกันดี คือ “ช็อกโกแลตซีสต์”

“โรคนี้ยังไม่มีการรู้สาเหตุที่แท้จริง และไม่มีวิธีป้องกัน ดังนั้นหากผู้หญิงมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรงและต่อเนื่องจนกระทบกับคุณภาพชีวิตแนะนำให้มาตรวจ แต่ทางที่ดีควรตรวจก่อนมีอาการโดยตรวจคัดกรองด้วยการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี ช่วยคัดกรองทั้งโรคเยื่อบุโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และมะเร็งปากมดลูกไปพร้อมกัน”

ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ ย้ำว่า การปวดท้องน้อยเป็นอาการของหลายโรค ขณะเดียวกันโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ยังสัมพันธ์กับมะเร็งรังไข่ ดังนั้นหากผู้หญิงชะล่าใจมีโอกาสที่จะเป็นโรคที่รุนแรงได้ หลายปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลจุฬาภรณ์จึงรณรงค์ในเรื่องนี้ร่วมกับหลายภาคส่วน เพื่อนำความรู้สู่ประชาชน สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้หญิงทุกวัย

ทั้งนี้แนะนำให้ผู้หญิงสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบพบสูตินรีแพทย์ทันที ได้แก่ 1.ปวดท้องประจำเดือนที่มากกว่าปกติ มีอาการปวดขณะมีประจำเดือนและปวดมากขึ้นเมื่อมีประจำเดือน และอาจรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในรอบเดือนถัด ๆ ไป 2.ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยจะมีอาการเจ็บลึก ๆ ระหว่างหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ 3.ปวดอุ้งเชิงกราน โดยมีอาการปวดขณะไม่มีประจำเดือน และมีอาการปวดเรื้อรังผิดปกติ และ 4.ประสบภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากโรคนี้มักจะทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน บางรายเป็นมากจนทำให้เกิดการอุดตันของท่อนำไข่ทั้งสองข้าง ไม่สามารถมีบุตรเองได้โดยวิธีธรรมชาติ

สำหรับวิธีการรักษามี 3 แนวทางด้วยกัน คือ การกินยา การผ่าตัด และการรักษาร่วมกัน กรณีโรคไม่รุนแรงสามารถรักษาด้วยยา แต่หากพบช็อกโกแลตซีสต์มีขนาดเกิน 4 ซม.ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

พญ.กตัญญุตา นาคปลัด แพทย์เฉพาะทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ระบุว่า โรคนี้พบได้ประมาณ 1 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ และอาจสูงถึง 5 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีอาการปวดประจำเดือน โดยความรุนแรงของอาการมีหลายระดับ อย่างไรก็ตามผู้หญิงหลายคนมักมองข้าม ยิ่งในช่วงเวลาที่มีประจำเดือนอาจคิดว่าการปวดท้องน้อยเป็นเรื่องปกติ ซึ่งความจริงอาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงโรคนี้ได้

ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์และเข้ารับการตรวจวินิจฉัย โดยผู้หญิงไม่ต้องกังวลกับการตรวจ เพราะมีหลายรูปแบบตั้งแต่การซักประวัติ ทำอัลตราซาวด์หน้าท้อง การตรวจทางทวารหนัก รวมถึงการตรวจภายใน เพื่อหารอยโรค ประเมินจากอาการและความรุนแรงของโรค เพื่อให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาให้กับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยธรรมชาติของโรคแต่จะดีขึ้นเองเมื่อไม่มีฮอร์โมนเพศมากระตุ้น หรือเมื่อเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน อีกกลุ่มคือ หญิงตั้งครรภ์ เพราะในช่วงตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนปริมาณสูงมาก ทำให้โรคสงบลงได้ รวมถึงในช่วงให้นมบุตรซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีการตกไข่ ทำให้ไม่มีประจำเดือน อาการของโรคก็จะดีขึ้นเช่นกัน แต่หลังจากคลอดและหลังระยะให้นมบุตรตัวโรคสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้ เพราะเป็นโรคที่ไม่หายขาด
สำหรับผู้หญิงที่เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อาจส่งผลต่อการมีบุตรยาก แพทย์จะแนะนำวิธีรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ด้านภาวะการมีบุตรยาก ซึ่งวิธีการรักษาจะมีตั้งแต่การกระตุ้นรังไข่ไปจนถึงการใช้วิธีปฏิสนธินอกร่างกายหรือการทำเด็กหลอดแก้ว ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถปรึกษาคลินิกภาวะมีบุตรยาก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้ โดยปัจจุบันมีเทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธ์ ผู้หญิงที่เป็นโรคเยื่อบุเจริญผิดที่ 80-90% สามารถมีบุตรได้ถ้าไม่มีปัจจัยอสุจิร่วมด้วย หัวใจสำคัญคือต้องรีบมาพบแพทย์

ด้าน พญ.ปานียา สูตะบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไบเออร์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลสุขภาพผู้หญิง ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ในเดือนพฤษภาคม ผ่านแคมเปญ “Bayer For Her” และ #ปวดท้องต้องตรวจ #ปวดท้องน้อย พูดสิพูดได้ กับโรคช็อกโกแลตซีสต์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้หญิงตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพของตนเอง และอย่าลังเลที่จะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับงานเสวนา “ปวดท้องน้อย อย่าปล่อยผ่าน กับโรคช็อกโกแลตซีสต์” ที่จัดขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ยังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องน้อย ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 30 ท่าน เข้ารับบริการประเมินอาการตรวจคัดกรองความเสี่ยงด้วยวิธีอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง จากทีมบุคลากรของโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พร้อมรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ ห้องรับรอง 1 อาคารบริหารไปรษณีย์ไทย ถนนแจ้งวัฒนะ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และติดตามงานเสวนาได้ผ่านช่องทาง YouTube CRA CHULABHORN Channel และ Facebook Live โรงพยาบาลจุฬาภรณ์.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password